นิกเกอิ เอเชียน รีวิว สื่อแนวธุรกิจชั้นนำในญี่ปุ่น ตีพิมพ์บทรายงานเกี่ยวกับนโยบาย Thailand 4.0 ระบุว่า แนวคิดนี้น่าสงสัยว่าจะเป็นการลงทุนลงแรงที่สูญเปล่าหรือไม่
เมื่อวันพุธ (8 ส.ค.61) เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เผยแพร่บทรายงานของ William Mellor ผู้สื่อข่าวซึ่งปฏิบัติงานในฮ่องกง แสดงความแคลงใจว่า นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลทหารจะบรรลุเป้าหมายได้จริงหรือ
รายงานบรรยายว่า รัฐบาลไทยออกค่าใช้จ่ายให้คณะสื่อมวลชนในเอเชียและนอกภูมิภาคจำนวน 3 คันรถบัสตระเวนดูความคืบหน้าของโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยใช้เวลา 6 วัน ครอบคลุมกิจการตั้งแต่การบินอวกาศ หุ่นยนต์ ยาต้านมะเร็ง ไปจนถึงโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
ผู้เขียนบอกว่า รัฐบาลทหารของไทยตั้งเป้าที่จะบรรลุสถานะประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 แต่ตนยังไม่แน่ใจ แม้การยึดอำนาจทางการเมืองทำให้ความปั่นป่วนยุติลงได้ แต่เมื่อรัฐบาลทหารประกาศที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนพวกเขากำลังลงทุนลงแรงโดยสูญเปล่า
รัฐบาลทหารชูประเด็นทำเลที่ตั้งของประเทศไทยเป็นจุดขาย ว่า ไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีประชากร 3,500 ล้านคน เขตเศรษฐกิจนี้มีจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของโลก มีการวางแผนโครงการมากมายเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ฯเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงตั้งแต่จีนจนถึงสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนชี้ถึงอุปสรรคใหญ่ 2 ประการสำหรับการบรรลุความสำเร็จของไทย คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความน่าลงทุนในสายตาของต่างชาติ
อุปสรรคข้อแรกคือ แม้ไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกำลังลดลง
ประเทศเพื่อนบ้านต่างมีอัตราเติบโตแซงหน้าไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่า ในปี 2561 เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ และลาว จะขยายตัวตั้งแต่ร้อยละ 6.8 – 7.1 ในขณะที่ไทยเติบโตแค่ร้อยละ 4
อุปสรรคข้อที่สองคือ ไทยกำลังถูกแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า สัดส่วนของเอฟดีไอของไทยในภูมิภาคหล่นฮวบจากร้อยละ 14 เมื่อปี 2556 ลงมาเหลือไม่ถึงร้อยละ 6 ในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นักลงทุนของชาติตะวันตกบางส่วนเลิกสนใจประเทศไทยนับแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา
ผู้เขียนให้ความเห็นในตอนท้ายว่า อัตราเติบโตของไทยอาจจะตามหลังบรรดาเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำต่อไป ขณะที่โครงสร้างประชากรกำลังมีผู้สูงอายุในสัดส่วนสูงขึ้น ตอนนี้ตลาดของไทยยังดีกว่าของเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศ ประเด็นท้าทายจึงอยู่ที่การทำอีอีซีให้กลายเป็นความจริง