หลังเกิดคดีทำร้ายเด็กบ่อยครั้ง และเพิ่มจำนวนขึ้นในสัดส่วนที่น่าตกใจ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกมาประกาศแก้ไขกฎหมายให้สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อวันอังคาร (19 มี.ค.2562) ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนเตรียมปรับแก้กฎหมายคุ้มครองเด็ก เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดเด็กทางกายภาพอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะแบนพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้ลงมือทำร้ายหรือทำโทษเด็ก หลังสถิติชี้ว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กถูกทำร้ายเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายใหม่อยู่ในขั้นตอนเตรียมพิจารณาในสภา และคาดว่าน่าจะลงมติผ่านร่างดังกล่าวเป็นกฎหมายได้ในเดือนเมษายนปีหน้า
นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวต่อคณะรัฐมนตรีถึงการปรับแก้กฎหมายในครั้งนี้ว่า หน้าที่ปกป้องเด็กเป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ทุกคน และรัฐบาลจะดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันไม่ให้การล่วงละเมิดเด็กเกิดขึ้น โดยชี้ว่าคดีทำร้ายเด็กพุ่งสูงขึ้นปีต่อปี ทำให้กรณีนี้ถือเป็นวิกฤติทางสังคมได้แบบหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญเทียบเท่ากับการ 'ป้องกัน' ไม่ให้เกิดขึ้น คือ การ 'ตรวจพบ' สัญญาณอันตรายในช่วงเริ่มแรกของการทำร้าย เพื่อป้องกันการลงมือที่จะตามมาในอนาคต
นอกจากนี้ การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งด้านการดูแลเด็กและดำเนินการทางกฎหมาย รวมไปถึงทีมงานที่ติดต่อกับเด็กและผู้ปกครอง ย่อมต้องทำงานอย่างเหมาะสมและไร้รอยต่อ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสวัสดิภาพเด็กมากที่สุด โดยร่างกฎหมายใหม่ไม่เพียงแต่ห้ามผู้ปกครองลงมือทำร้ายเด็ก และต้องเป็นผู้รับผิดชอบสวัสดิภาพของเด็กทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังกำหนดให้ศูนย์สวัสดิภาพเด็กต้องมีทีมนักกฎหมายและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ เพื่อให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในทีมอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญอีกประการ คือ ร่างกฎหมายใหม่เสนอให้ศูนย์สวัสดิภาพเด็กแบ่งแยกเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กถูกทำร้าย ออกจากเจ้าหน้าที่ชุดที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งกฎหมายฉบับปัจจุบันไม่เคยอ้างถึงสิ่งนี้ ขณะเดียวกัน ก็จะสนับสนุนให้มีการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาและศูนย์สวัสดิภาพเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ โดยสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงศูนย์บริการทุกแห่ง จะต้องมีมาตรฐานการปิดข้อมูลเด็กเป็นความลับที่เข้มงวดกว่าที่กฎหมายฉบับปัจจุบันระบุไว้ด้วย
การผลักดันให้ปรับแก้กฎหมายเช่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากกรณีที่เด็กหญิง ยูอะ ฟุนาโตะ วัย 5 ขวบ เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว จากการถูกทุบตีและปล่อยให้อดอาหาร หลังจากที่เด็กน้อยเคย 'ส่งสัญญาณ' ว่าไม่ต้องการอยู่กับพ่อและแม่ของเธอแล้ว แต่ศูนย์สวัสดิภาพเด็กกลับมองข้าม และปล่อยเธอไว้กับครอบครัวเดิม
ขณะที่เมื่อต้นปี เป็นกรณีของเด็กหญิง มิอะ คุริฮาระ วัย 10 ปี ที่เสียชีวิตจากการถูกทำร้าย ให้อดอาหาร และอดนอน นอกจากนี้ ยังถูกพ่อบังคับให้เขียนจดหมายโกหกเพื่อรับรองว่าตนไม่ได้ทำร้ายลูก ทำให้ศูนย์สวัสดิภาพเด็กส่งตัวเธอคืนสู่ครอบครัวที่ทำร้ายเธอเช่นเดิม โดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เธอบอกเล่าถึงการถูกทำร้าย โดยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับทางโรงเรียน ยังถูกส่งให้กับพ่อของเธอ ซึ่งเป็นผู้ทำร้ายเธออีกด้วย เท่ากับว่าระบบในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันแทบไม่เปิดโอกาสให้เด็กที่เป็นเหยื่อได้หลุดพ้นจากการถูกทำรายโดยครอบครัวเลย
บทความล่าสุดของกองบรรณาธิการสำนักข่าวซินหัว ของจีน ระบุว่า สิ่งที่น่าตกใจคือการที่เจ้าหน้าที่สวัสดิภาพเด็กส่ง 'มิอะ' คืนให้ครอบครัวทั้งที่รู้ว่าเธอจะถูกทำร้ายอีกครั้ง หรือก็คือ ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องมักมองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือสวัสดิภาพของเด็ก เพื่อแลกกับการทำงานที่ราบรื่นขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นชี้ว่า ในปี 2018 มีกรณีทำร้ายผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปี สูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 80,104 กรณี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขสูงผ่านหลัก 80,000 กรณีด้วย โดยในจำนวนนี้เป็นการทำร้ายทางกายเกือบ 15,000 กรณี และอีกเกือบ 8,000 กรณี เป็นการระบุได้ว่าเด็กถูกเพิกเลยหรือละเลยไม่เลี้ยงดู
อย่างไรก็ตาม การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก เพราะไม่มีการกำหนดบทลงโทษของผู้กระทำอย่างแน่ชัด และไม่ครอบคลุมถึงการล่วงละเมิดทางจิตใจ ซึ่งส่งผลร้ายต่อเด็กไม่ต่างจากการทำร้ายทางร่างกายด้วย โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโตโยะ 'ทาคายูกิ ซูสึกิ' กล่าวว่า 70 % ของกรณีการทำร้ายที่สำนักงานตำรวจเปิดเผยเป็นการทำร้ายทางใจ แต่รัฐบาลกลับมองข้ามในจุดนี้