งานวิจัยจากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ทารกในทศวรรษหน้าเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นมาก
งานวิจัยล่าสุดจากสมาคมโรคหัวใจอเมริกันระบุว่า ระหว่างปี 2025 ถึง 2035 จำนวนทารกแรกเกิดที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องมาจากแม่อยู่ในสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงกว่าในยุคสมัยก่อน ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ 'ภาวะโลกร้อน' โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน
งานวิจัยดังกล่าวพิจารณาจากตัวเลขทารกที่เกิดมาพร้อมโรคหัวใจ 7,000 คน ในช่วงเวลา 11 ปี ในสหรัฐฯ โดยภูมิภาคมิดเวสต์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามมาด้วยทางตอนใต้ และทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนักวิจัยระบุว่าโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถือเป็นความผิดปกติในทารกที่พบได้มากที่สุด และโรคนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมและการพัฒนาของร่างกายอีกด้วย
แม้ผลวิจัยดังกล่าวจะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า อุณหภูมิโลกมีผลโดยตรงต่อโรคในทารก แต่จากการศึกษาสัตว์ก่อนหน้านี้พบว่า ความร้อนทำให้เซลล์ในร่างกายเสียหายได้ และส่งผลร้ายต่อระดับโปรตีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโต จึงอาจสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า หากอุณหภูมิโลกยังสูงอยู่เช่นนี้ หรือสูงขึ้นจากนี้อย่างต่อเนื่อง หญิงตั้งครรภ์ก็มีแนวโน้มที่จะคลอดก่อนกำหนด เพราะร่างกายไม่สมบูรณ์พอจะรักษาครรภ์ได้ครบระยะ ซึ่งจะส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยและไม่แข็งแรง