รายงานยูเอ็นระบุ กลุ่มแฮกเกอร์เกาหลีเหนือโจมตีทางไซเบอร์เพื่อขโมยเงินจากบัญชีธนาคารหรือการทำธุรกรรมเงินดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐ และอาจนำไปสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) อีกด้วย
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการด้านเกาหลีเหนือเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นการประเมินความคืบหน้าตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ค.2019 และเนื้อหาในรายงานบางส่วนถูกเปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลายสำนัก
รอยเตอร์อ้างอิงหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมจัดทำรายงานดังกล่าว ระบุว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แฮกเกอร์เกาหลีเหนือปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์แก่สถาบันการเงินต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก และสามารถสร้างรายได้ราว 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 62,000 ล้านบาทให้กับประเทศ แม้เกาหลีเหนือจะถูก UNSC คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเกาหลีเหนือนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา
มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามมติของ UNSC มีเป้าหมายเพื่อระงับยับยั้งการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์นำวิถี และการคว่ำบาตรรวมถึงการอายัดบัญชีที่เกี่ยวพันกับสถาบันหรือองค์กรที่สร้างรายได้ของเกาหลีเหนือ รวมถึงสั่งห้ามประเทศสมาชิกสหประชาชาติส่งออกถ่านหิน เหล็ก ตะกั่ว สิ่งทอ และอาหารทะเลไปยังเกาหลีเหนือ แต่ยินยอมให้มีการส่งน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือได้ แต่มีการจำกัดปริมาณ
แม้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจะยืนยันกับรอยเตอร์ว่ารัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN ปฏิบัติตามมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นายทรัมป์และคณะ กลับเป็นฝ่ายเดินทางไปพบกับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ที่เขตปลอดอาวุธ หรือ DMZ เชื่อมต่อระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ด้วยตนเอง โดยระบุว่า เพื่อสานต่อการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
อย่างไรก็ตาม หลังจากทรัมป์พบกับคิมจองอึนที่ DMZ เกาหลีเหนือก็ทดสอบยิงขีปนาวุธอีกหลายครั้งปลายเดือน ก.ค. และครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคือเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ 3 ในเวลาเพียง 8 วัน หลายประเทศไม่เข้มงวดกับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ
เว็บไซต์CBS Newsเปิดเผยว่า รายงานของผู้เชี่ยวชาญที่เสนอต่อ UNSC มีจำนวนทั้งหมด 33 หน้า ภาคผนวกอีก 109 หน้า ซึ่งอธิบายอย่างละเอียดว่าเกาหลีเหนือสามารถเคลื่อนไหวเล็ดรอดมาตรการคว่ำบาตรได้อย่างไร พร้อมระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศกำลังร่วมมือกันตรวจสอบเหตุโจมตีทางไซเบอร์ 35 คดีที่เกิดขึ้นใน 17 ประเทศ เพื่อหาทางป้องกันและเอาผิดกลุ่มผู้ก่อเหตุที่มีเบาะแสบ่งชี้ว่าเกี่ยวพันกับเกาหลีเหนือ
เนื้อหาในรายงานระบุด้วยว่า หลายประเทศไม่ได้เข้มงวดจริงจังที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีเหนือลักลอบนำเข้าถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงได้เกินกว่าปริมาณที่กำหนด ทั้งยังเกิดช่องโหว่ที่กลุ่มแฮกเกอร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงขโมยเงินจากบัญชีธนาคารต่างๆ และการทำธุรกรรมสกุลเงินดิจิทัล สร้างรายได้กว่า 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะนำไปใช้กับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ขณะเดียวกันซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การสั่งทดสอบขีปนาวุธครั้งใหม่ในเดือน ก.ค.-ส.ค. ของเกาหลีเหนือ เป็นการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ ไม่ถือว่าละเมิดเงื่อนไขในการพูดคุยระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือซึ่งห้ามการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ถือว่าละเมิดมติด้านความมั่นคงของ UNSC อยู่ดี
ส่วนเกาหลีเหนือแถลงว่า การทดสอบขีปนาวุธรอบใหม่ เป็นการตอบโต้ที่กองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เดินหน้าฝึกซ้อมรบร่วมกันในเดือน ส.ค. ซึ่งเกาหลีเหนือมองว่าเป็นการละเมิดเงื่อนไขในการเจรจาเพื่อหาทางปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี บ่งชี้ว่าเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ไม่เคารพในจิตวิญญาณข้อตกลงทำความเข้าใจที่ผู้นำสองประเทศเคยลงนามเอาไว้ร่วมกับเกาหลีเหนือ
ด้านตัวแทนประเทศสมาชิกถาวรของ UNSC ได้จัดการประชุมแบบปิดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากคำร้องของรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ต้องการหารือว่าจะเดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติมหรือไม่