'นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' ชี้ สต็อกข้าวมีถึง 3 ยอด ทำให้นักบัญชีอย่างตน งงมากขึ้นว่า 'เหตุใดหน่วยงานของรัฐฯ จึงมีตัวเลขแตกต่างกันได้ขนาดนี้' จ่อแจ้ง 'สตง.' สอบหายอดที่ถูกต้อง
(ยอดสต็อกข้าวตัวเลขที่ 1 ) หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศออกมาร้องขอให้ สตง. ตรวจสอบข้าวหาย 940,000 ตัน นั้น นายเรืองไกร กล่าวว่าหลายฝ่ายเชื่อว่า สต็อกข้าวคงเหลือยกมา ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จำนวน 18,700,000 ตัน และเมื่อหักยอดข้าวที่หายไป 940,000 ตัน ยอดที่กรมการค้าต่างประเทศนำไปประมูลขายจึงมีทั้งสิ้น 17,760,000 ตัน
(ยอดสต็อกข้าวตัวเลขที่ 2 ) ในรายงาน นบข. ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 มีการรับทราบปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกรัฐบาลอยู่ที่ 18,862,510 ตัน ข้อมูลดังกล่าวบอกชัดเจนถึง ปริมาณ ไม่ใช่ตัวเลขทางบัญชี ดังนั้นถ้ารัฐบาล คสช. ระบายข้าวไปทั้งหมด 17,760,000 ตัน จึงต้องตั้งประเด็นว่า สมัยรัฐบาล คสช. บริหาร เกิดข้าวหายไป กว่า 1,102,510 ตันหรือไม่?
(ยอดสต็อกข้าวตัวเลขที่ 3 ) ในคำเบิกความพยานโจทก์คนหนึ่ง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ในหน้า 9 กลับระบุว่า “ข้อมูลจากการปิดบัญชีของข้าพเจ้าและคณะพบว่า ระดับสต็อกข้าวสาร ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีจำนวน 19.12 ล้านตัน” จากคำเบิกความจึงแปลความได้ว่า ปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกรัฐบาล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีจำนวนสูงถึง 19,120,000 ตัน ดังนั้น ถ้ารัฐบาล คสช. ระบายข้าวไปทั้งหมด 17,760,000 ตัน ทำให้ต้องตั้งประเด็นใหม่ว่า เกิดข้าวหายไปสูงถึง 1,360,000 ตัน หรือเทียบเท่าข้าวสารขนาดร้อยกิโล 13,600,000 กระสอบ
ดังนั้น เมื่อเห็นตัวเลขสต็อกข้าวยกมามีถึง 3 ยอด จึงสงสัยว่า เหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงมีตัวเลขแตกต่างกัน ไม่มีการสอบยืนยันตัวเลขเลยหรือไม่ แล้วยอดที่ถูกต้องเป็นเท่าใด หากยอดสต็อกข้าวยกมา ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีปัญหาเช่นนี้ ย่อมกระทบไปถึงยอดข้าวที่หายด้วย ซึ่งรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบต่อไป ใช่หรือไม่ ?