มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ค้นพบวิธีสกัดเชื้อเพลิงชีวภาพจาก 'ซากเห็ด' ซึ่งอาจนำไปสู่นวัตกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีต้นทุนต่ำลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ค้นพบวิธีใหม่ในการสกัด Mushroom waste หรือ ซากเห็ด ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ แม้ว่างานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันจะชี้ว่าเชื้อเพลิงชีวภาพไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเชื่อกันมาก็ตาม โดยวิธีใหม่นี้จะสามารถแยกแบคทีเรีย TG57 หรือซากการย่อยสลายที่เหลือจากการเพาะเห็ด และเปลี่ยนให้เป็น 'ไบโอบิวทานอล' หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ
แบคทีเรียสายพันธุ์ TG57 ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2015 และถือเป็นวัตถุดิบที่สามารถแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นซากปฏิกูลที่ไม่สามารถให้ประโยชน์อื่นได้แล้ว ต่างจากการทำเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชผลสดใหม่ที่สามารถทำเป็นอาหารได้
ก่อนหน้านี้ ต้นทุนการผลิต 'ไบโอบิวทานอล' ที่สูง ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและงบประมาณ ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพไม่ได้รับความนิยมเท่าไร แต่การค้นพบครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงต่อไป โดยที่ต้นทุนการผลิตจะลดลงเรื่อย ๆ และทำให้ผู้ใช้ยานยนต์ทั่วไปหันมาพิจารณาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนเชื้อเพลิงแบบเดิมได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น