ในเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ 'พรรคการเมือง คนรุ่นใหม่ กับทิศทางการเมืองไทย' จัดโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พูดคุยกับตัวแทน 4 พรรคการเมือง คือ
- นายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
- นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
-นายไกลก้อง ไวทยาการ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
และ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
การเสวนา เริ่มด้วยคำถาม 'จุดยืน' และมุมมองต่อการเมืองไทยของทั้ง 4 คน?
พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะ ผู้อาวุโส บอกว่า 'รู้สึกเศร้าใจ ที่ประเทศไทยปกครองด้วยประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่กลับถูกล้มด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร การเมืองไทยจึงไม่พัฒนา ประเทศไม่เจริญ ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ การรัฐประหาร มักถูกกระทำด้วยทหาร ที่ถูกปลูกฝังให้อยากเป็นใหญ่ แต่ไม่คิดทำตามระบบ ไม่คิดอยากเลือกตั้ง คิดแต่ยึดอำนาจ และครั้งนี้ ยังมีการเล่นแง่ กลโกงเรื่องกฎหมายต่างๆ ตั้งแต่การทำประชามติ จนถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง'
ด้านนายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บอกจุดยืนว่า 'ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอกเด็ดขาด เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตย และจะนำมาซึ่งความวุ่นวายในอนาคต ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนในเท่านั้น จึงจะตอบโจทย์ แต่ก็มีอุปสรรคเรื่องรัฐธรรมนูญที่เขียนล็อคไว้หลายอย่าง และตอนนี้ รู้สึกเบื่อมาก กับพลังดูด ดึงฐานเสียงการเมืองท้องถิ่น ทำให้เกิดภาพเหล้าเก่าในขวดใหม่ ทำให้การเมืองอยู่แต่ในวังวนเดิม'
นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า 'ตัวเองอยากเป็น ส.ส.มาตั้งแต่เด็ก จึงสนใจศึกษาการเมือง และได้เห็นความเป็นไปมากมาย ตอนนี้อายุ 39 ปีแล้ว และสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ทำให้รู้สึกว่า กำลังถูกพาย้อนกลับไปยุคก่อน และหากเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ เรื่อง อเวนเจอร์ อินฟินิตี้ วอร์ ก็จะพบว่า ตัวร้ายที่ชื่อ ธานอส กำลังใช้พลังดูด อินฟินิตี้ สโตน โดยมี ไทม์ สโตน พาย้อนเวลา การตัดสินใจเลือกผู้นำหลังจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง สะสมมา 7 ปี'
ส่วนจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ นายไกลก้อง ไวทยาการ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า 'จะยึดมั่นในประชาธิปไตย ไม่เอาอำนาจ คสช. ไม่เอาสืบทอดอำนาจ และต้องการเปลี่ยนทัศนคติการมองว่านักการเมืองเลวให้ได้ โดย 10 ปีที่ประเทศไทยอยูู่ใต้ระบอบทหาร สลับกับประชาธิปไตยเป็นครั้งคราว ไทยเสียโอกาสไปหลายอย่าง รวมทั้งตัวชี้วัดต่างๆ ตกต่ำลง ทั้งเรื่องการคอร์รัปชัน การแข่งขันทางการค้า การศึกษา และสิทธิมนุษยชน'
สำหรับคำถามที่ว่า 'การเลือกตั้ง' จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?
ทั้ง 4 คน ตอบไปในทิศทางเดียวกัน คือ 'คนรุ่นใหม่ เป็นตัวแปรสำคัญมาก' ดังนั้น คนรุ่นใหม่ต้องสนใจการเมืองให้มาก อย่ามองเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตตัวเอง ต้องพยายามพาตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งหลังรัฐประหาร จะมีคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นเสมอ การเมืองกำลังจะถ่ายเลือด และการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของคนรุ่นใหม่ ในอีก 20 ปีข้างหน้า