ตลอด 85 ปีของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมาถึง 20 ฉบับแล้ว แต่ละฉบับมีสถิติที่น่าสนใจไม่น้อย
ตลอด 85 ปีของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมาถึง 20 ฉบับแล้ว แต่ละฉบับมีสถิติที่น่าสนใจไม่น้อย
ใน 20 ฉบับมีเพียง 4 ฉบับที่ยกร่างโดยตัวแทนที่มาจากประชาชนทั้งสภาผู้แทนราษฎร และสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือเป็นฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตย คือ ฉบับถาวร ปี 2475 /ฉบับถาวรปี 2489 ฉบับถาวร ปี 2517 และ ฉบับถาวรปี 2540
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ ยกร่างโดยคณะรัฐประหารและองค์กรที่มาจากการเครือข่ายการยึดอำนาจ โดยมีทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร มากถึง 15 ฉบับ
ขณะที่ 1 ฉบับเป็นการจัดทำขึ้นหลังการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ปี2475 หากนับเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้เป็นฉบับถาวร จะมีจำนวน 11 ฉบับ
ส่วนรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ถูกบังคับเป็นเวลายาวนานที่สุดใน 20 ฉบับ คือ ฉบับถาวร ปี 2475 ถูกใช้มากถึง 13ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่10 ธันวาคม 2475 และถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2489
ขณะที่รัฐธรรมนูญที่มีอายุใช้น้อยที่สุดคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ปี 2475 คือประกาศใช้เพียง 5 เดือน 13 วัน โดยบังคับชั่วคราวใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปี 2475 และยกเลิกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปี 2475
ส่วนรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศ พบว่ามี 8 ฉบับจากทั้งหมด 20 ฉบับ อีกทั้งยังมีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นในสถานการณ์พิเศษ หลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือเป็นฉบับชั่วคราวถึง 9 ฉบับ ในประวัติศาสตร์ของการใช้รัฐธรรมนูญ จะมี 2 ฉบับเท่านั้นที่ผ่านการทำประชามติ คือ ฉบับถาวรปี 2550 และฉบับปัจจุบัน ปี 2560