ไม่พบผลการค้นหา
กินเนื้อหมาหรือเลี้ยงสุนัข ตอน 2
จาก 'ลัดดา' ถึง 'เรยา' และ 'ชั่วฟ้าดินสลาย'
สถานะของภาษาอังกฤษในสังคมไทย ตอนที่ 1
แฟชั่นกับผู้นำหญิง
เมื่อ 'ผู้หญิง' ก้าวเข้ามาในพื้นที่ของผู้ชาย
ยืนตรงเคารพธงเพลงชาติเพื่ออะไร
วัฒนธรรมไทย กับดีไซน์ คัลเจอร์
คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา Special in Chiang Mai (ตอนจบ)
ประวัติศาสตร์การรับน้องและระบบ Sotus ในประเทศไทย (ตอนจบ)
โฆษณา เครื่องดื่มขาวอมชมพู สะท้อนความไร้การศึกษาวงการโฆษณาไทย
กินเนื้อหมาหรือเลี้ยงสุนัข
คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา Special in Chiang Mai
ที่ใดมีกิ๊กที่นั่นมีกรรม ตอนแรก
พิษตกค้างการเมืองหลังการเลือกตั้ง (ตอนจบ)
'ชาตินี้' หรือ 'ชาติไหน' ที่วัฒนธรรมแบบไทยจะผงาดสู่เวทีโลก
เครื่องแบบนักเรียน " มีอยู่" หรือ "ยกเลิก" ?
“วัฒนธรรมวาย” ที่ไม่ใช่เหล้าองุ่น แต่เป็นวายในงานวรรณกรรม
"หนังโป๊ไทยไปหนังโป๊โลกได้หรือไม่ ?" (ตอนที่2)
อาการแพ้นม ของสังคมไทย (ตอน 2)
มายาคติว่าด้วย “ความเป็นแม่”
'ละครน้ำเน่า'
May 8, 2011 15:04

 

เพราะเหตุใด ใคร  ๆ จึงประณามว่า ละครน้ำเน่าที่ออกอากาศในช่องฟรีทีวีของเมืองไทยนั้น ไร้สาระ ?

ความจริงแล้วพวกละครโทรทัศน์ที่เห็นว่าน้ำเน่านี้แหละเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิด  ความเชื่อ  อุดมการณ์และโลกทัศน์ของสังคมกระแสหลัก  ปลูกฝังเข้าไปยังคนดูที่ดูอย่างเอาความบันเทิงรับเข้าไปได้อย่างเนียน ๆ และกลืนมันเข้าไปย่อยจนกลายเป็นความคิดอุดมการณ์ของตัวเองได้ดีที่สุด  รัฐอาจจะต้องเสียเวลาในการปลูกฝังความคิดอุดมการณ์บางอย่างผ่านแบบเรียนใช้เวลาเป็นปี ๆ ในระบบการศึกษาของโรงเรียน  แต่ละครโทรทัศน์ปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่างได้ในเวลาไม่นาน  อย่างมากถ้าเรตติ้งดีก็คงยืดได้สัก 3 เดือน  ใน 1 เรื่อง

 

ยกตัวอย่างเอาง่าย ๆ เลยว่าอากัปกิริยาต่าง ๆ ของตัวละครในละคร  เช่นการตบเวลาที่นางอิจฉาเงื้อมือจะตบนางเอก  ที่เห็นเงื้อมือตบนี่มันมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่จะมีความหมายเพียงว่า  เอ๊ะ อีนี่ฉันโกรธเธอ  ฉันหมั่นไส้เธอ  ฉันอยากได้ผัวเธอมาทำผัวแต่มีเธอเป็นก้างขวางคอ  ฉันเกลียดเธอๆ .........กรี๊ด ๆ ๆ ๆ     เพราะกิริยาการตบนั้นจะลงรหัสเชิงเพศสภาวะหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Gender Code โดยตัวละครเพศหญิงเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการตบ  ถ้าตัวละครชายจะมาตบกันก็ดูไม่แมนแสนจะแต๋วแตก  กลายเป็นละครที่พวกตุ๊ด ๆ แต๋ว ๆ จะตบกัน  และก็ถอดรหัสเชิงเพศสภาวะได้ว่าตัวละครนั้นมีความเป็นหญิงสูง  ถ้าตัวละครต้องแสดงความเป็นชายสูง ก็ต้องใช้การชกต่อยซึ่งก็ลงรหัสเชิงเพศสภาวะไว้ว่าเป็นตัวละครเพศชาย  ซึ่งก็จะกลายเป็นโลกทัศน์ที่ส่งผ่านทางจอทีวีไปให้คนดูดูและแยกแยะการกระทำที่ตัวละครแสดงผ่านร่างกายให้มีความหมายทางสังคมที่ว่าด้วยเรื่องเพศ

 

หรือจะเป็นสูตรสำเร็จของละครน้ำเน่าไทยอย่าง ตบจูบ ก็เหมือนกัน  เมื่อนางเอกตบพระเอกแล้วเป็นการสร้างความรุนแรงขึ้นมา  แต่ตัวพระเอกก็จะทำหน้าที่สลายความรุนแรงนั้นโดยใช้การแสดงออกทางร่างกายผ่านการจูบ  บางเรื่องอาจจะเลยเถิดถึงขั้นปลุกปล้ำ  ข่มขืนกันเลยทีเดียว  เป็นการแสดงกระบวนการใช้อำนาจที่ผู้ชายแสดงเหนือร่างกายของผู้หญิง  ซึ่งไม่มีละครน้ำเน่าไทยเรื่องไหนเลยจะ  มีฉากสลับกันให้ตัวละครฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายถูกตัวละครฝ่ายชายตบแล้วจูบ  ปล้ำ  ข่มขืนตัวละครฝ่ายชายเลย  เพราะมันเป็นการส่งผ่านถึงอุดมการณ์ในเรื่องเพศสภาวะของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่สู่คนดู  นางเอกทั้งหลายจึงต้องรอพระเอกมาจูบ  หรือรูปตามปกหนังสือเรื่องย่อละคร  หรือปกนิยายเล่มบาง ๆ เล่มละ 10 กว่าบาทขายตามสถานีขนส่ง  ก็ต้องเป็นรูปที่พระเอกโอบกอดนางเอกเป็นการโอบวงนอก  เพื่อแสดงให้เห็นการที่ผู้ชายต้องปกป้องผู้หญิง  เป็นการบอกบทบาททางเพศสภาวะว่าผู้หญิงต้องพึ่งพิงผู้ชายอยู่ตลอดเวลา  ฉันจะไปจูบผู้ชายก่อนไม่ได้  ฉันจะไปกอดผู้ชายก่อนไม่ได้  ฉันจะไปปล้ำผู้ชายก่อนก็ไม่ได้   แม้จะเห็นผู้ชายประมาณ ณเดช คูกิมิยะเดินมา  แล้วแถมสภาพการณ์เป็นใจให้ปล้ำมากก็ทำไม่ด๊ายยยยยไม่ด้ายยยยเพราะจะกลายเป็นหญิงไม่ดี  เป็นนางอิจฉา  นางร้ายไป

 

นางอิจฉา  นางร้าย  เป็นผู้หญิงที่มีสิทธิที่จะจูบพระเอก  ยั่วพระเอก  ปล้ำพระเอกได้  แต่ท้ายที่สุดของละครน้ำเน่า  นางอิจฉานางร้ายก็จะต้องถูกลงโทษไม่ได้พระเอกไป  ซ้ำร้ายอาจจะเจอตัวละครชายอื่น ๆ ที่เป็นตัวร้ายข่มขืน  ถูกฆ่าตาย  หรือกลายเป็นบ้า  เป็นการถ่ายทอดความคิดเรื่องบทบาทของเพศสภาพผ่านบละครไป  และบอกแม้กระทั่งการแสดงออกทางร่างกายในละครโทรทัศน์ก็ได้รับการประกอบสร้างความคิดบางอย่างทางสังคมเอาไว้

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนที่ดูละครในเมืองไทยนั้นมักจะเป็นผู้หญิง  ดังนั้นการสร้างละครโทรทัศน์ในโลกทุนนิยมก็ต้องดูตลาดผู้บริโภคเป็นหลักตามไปด้วย  จะมาสร้างละครเป็นตำรวจสายสืบมือปราบยิงกันกระจายก็กลัวว่าเรตติ้งจะไม่ได้  ยกเว้นจะขนพระเอกหนุ่ม ๆ หล่อ ๆ มาถอดเสื้อโชว์กล้ามยิงกับผู้ร้าย ล่ำ ๆ ก็ว่าไปอย่าง 

 

แต่ผู้หญิงที่ดูละครน้ำเน่าส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวหรอกค่ะว่าในขณะที่ตัวเองกำลังดูละครน้ำเน่าอยู่นั้นกำลังถูกสร้างขึ้นผ่านวาทกรรมหลัก  ซี่งเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมว่า  ผู้หญิงที่ดีควรจะปฏิบัติตัวเช่นไร  เราจะพบสารตามวาทกรรมหลักของสังคมไทยผ่านตามละครน้ำเน่ามา  อย่างค่านิยมการให้คุณค่าเรื่องพรหมจรรย์  การทำตัวเป็นแม่ศรีเรือนเป็นช้างเท้าหลัง  การมีสามีนั้นจะเป็นฉัตรแก้วกั้นเกศ  งามหน้างามเนตรเป็นหนักหนา  เลยทำให้ละครสื่อออกมาตัวนางเอกที่ต้องรอคอย  รอ ๆ ๆ ๆ ๆ อดทนเฝ้ารอเป็นนางเอกแสนดี  รักษาพรหมจรรย์เก็บไว้ให้แก่ชายผู้เป็นคนรัก ต้องยอมฉันยอมเจ็บปวด  ยอมอดทนเพื่อลูกเพื่อผัวเพื่อท้ายที่สุดฉันจะได้มีความสุขแฮปปี้เอนดิ้ง

 

แต่ในขณะเดียวกันอาจจะเกิดการตีความของผู้ชมที่เป็นผู้หญิงที่ก่อให้เกิดวาทกรรมต่อต้าน  มาย้อนแย้งจากวาทกรรมหลักซึ่งเป็นกระบวนการขัดเกลา  ละครน้ำเน่าอาจจะเป็นการตีแผ่ให้ผู้หญิงได้ตระหนักรู้ถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมปิตาธิปไตย  เห็นถึงการกดขี่และอคติทางเพศ  บางทีอาจจะเกิดการนิยมชมชอบนางร้าย  นางอิจฉา  เพราะจะเป็นตัวที่ลุกขึ้นมาท้าทางอำนาจตัวละครชาย  กับสิ่งที่ผู้ชายเป็นผู้มีอำนาจกำหนด  เพราะในขนบของละครน้ำเน่ามักจะสร้างให้นางร้ายหรือตัวอิจฉาเป็นผู้หญิงที่รู้จักการต่อรอง  เพื่อสร้างลักษณะตัวละครให้แย้งกับตัวนางเอกผู้ได้แต่เฝ้ารอทุกสิ่งอย่างสงบเสงี่ยม

 

เหล่านี้คือ ภาพในละคร ที่สะท้อนออกมาจากบางช่วงบางตอนของชีวิต ขยายภาพให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเห็นกิริยาอาการ ความรู้สึกต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ละครคือชีวิตจริง และชีวิตจริงก็คือละคะ นั่นเอง

 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog