การวางตัวเป็นกลาง และจัดการเลือกตั้งอย่างสุดความสามารถของกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นสิ่งที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ในพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างนครราชสีมาประสบความสำเร็จ สะท้อนบทบาทและหน้าที่ผู้กำหนดกติกา ที่บางพื้นที่ท้อถอย และยินยอมให้เกิดขัดขวาง
พลโทอัศวิน บอกว่า เขตเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ได้ตั้งเวทีปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีทุกคืน ขณะที่มวลชนคนเสื้อแดงก็มีแกนนำระดับภาคอยู่ในพื้นที่ สอดคล้องความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ก็พบความขัดแย้งของมวลชนเสื้อสี และหลายพรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวกันมาโดยตลอด
บทเรียนความล้มเหลว หลังกลุ่มผู้ชุมนุปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเขตที่ 1 จนเจ้าหน้าที่ถอนตัว ทำให้ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 มกราคม น้อยกว่าที่คาดไว้ ทำให้ประธาน กกต.จังหวัด ประกาศกับสื่อมวลชน และกกต.ประจำเขตว่า หากใครบุกเข้ามาปิดล้อมหน่วย ตนจะยืนขวางหน้าประตู พร้อมดึงกระแสพระราชดำรัสทั้งเรื่องกฎหมาย และหน้าที่ เป็นกลยุทธ์ ที่ทำให้มวลชนเข้าใจเจตนารมย์ของตน
หากพิจารณาจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของนครราชสีมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 58.59 หรือกว่า 1 ล้านคน จากผู้มีสิทธิกว่า 1 ล้าน 8 แสนคน ซึ่งมากกว่าจังหวัดที่มีจำนวนผู้มีสิทธิใกล้เคียงกัน เช่น ขอนแก่น และบุรีรัมย์ โดยมีจำนวนใกล้เคียงกับผู้มาใช้สิทธิในกรุงเทพมหานคร
นั่นทำให้พื้นที่ความขัดแย้ง และเคยมีปัญหา เป็นพื้นที่ที่มีความสงบ ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ บทเรียนนี้สะท้อนความตั้งใจจัดการเลือกตั้งของผู้ทำหน้าที่อย่างกกต.จังหวัด ที่มุ่งมั่น และยึดหลักกฎหมาย