สำนักพระราชวังญี่ปุ่นตำหนิ สส. ดึงจักรพรรดิสู่การเมือง
Go Global ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอิสระญี่ปุ่นที่มีชื่อว่านายทาโร่ ยามาโมโต้ ได้ยื่นจดหมายส่วนตัวแก่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต้ของญี่ปุ่น ขอให้พระองค์ทรงแทรกแซงกรณีความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการต่อปัญหานิวเคลียร์รั่วที่ฟูกูชิม่า แต่การกระทำดังกล่าวของนายทาโร่ได้สร้างกระแสต่อต้านอย่างมาก ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกันเอง และจากสำนักพระราชวัง เพราะต่างมองว่าเป็นการดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยสำนักพระราชวังถึงกับออกแถลงการณ์ว่า นายทาโร่กระทำการไม่เหมาะสม และได้ย้ำถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นที่เหนือการเมืองอย่างแท้จริงมาตลอด ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การเสนอให้นายทาโร่ลงจากตำแหน่ง สส. แต่นายทาโร่ปฏิเสธที่จะลาออก
อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเมด มอร์ซี่ของอียิปต์ ถูกนำตัวเข้าสู่การพิจารณาของศาลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองและการเกี่ยวข้องกับการสังหารกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในของอียิปต์ที่ยังยืดเยื้อ แม้ว่าการพิจารณาขงอศาลจะเป็นไปอย่างลับๆ แต่มีกระแสข่าวรั่วออกมาว่า นายมอร์ซี่ยังคงยืยกรานว่าตนยังคงเป็นประธานาธิบดีอียิปต์ที่ถูกต้องตามกฏหมายและมีความชอบธรรม ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่มีอยู่ในอีิปต์ไม่มีท่าทีที่จะลดลง ความขัดแย้งของกลุ่มที่สนับสนุนนายมอร์ซี่กับกลุ่มตรงข้ามยังคงมีอยู่ นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีฮอซนี่ มูบารัคถูกโค่นจากอำนาจในปี 2554
อินเดียประสบความสำเร็จในเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียได้ส่งยานอวกาสขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก จากนั้นอาจต้องใช้เวลาอีก 1 เดือนก่อนที่ยานอวกาศจะปรับตัวและในที่สุด สามารถเจาะชั้นบรรยากาศไปสู่นอกวงโคจรของโลกเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ดาวอังคาร ยานอวกาศที่ส่งออกไปนี้มีการใช้วิธีบังคับยานแบบอัตโนมัติโดยไม่มีนักบิน และใช้งบประมาณที่น้อยมาก คือเพียง 73 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับโครงการเดียวกันขององค์การนาซ่าของสหรัฐฯ ที่ใช้เม็ดเงินถึง 455 ล้านเหรียญสหรัฐ หลายฝ่ายมองว่า โครงการนี้ของอินเดียมีส่วนในการส่งเสริมสถานะทางการทหารและเศรษฐกิจของประเทศอย่างเด่นชัด