รายการ คิดเล่นเห็นต่าง กับคำผกา ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2556
Ovop เป็นกระบวนการพึ่งพาตนเอง ที่มีแนวความคิดอย่างสร้างสรรค์ ที่เริ่มขึ้นใน โออิตะ Oita จังหวัดเล็กๆทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น จากผลงานการวิจัยของ นัทธมน ธีระกุล , อารี วิบูลย์พงศ์และทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ ได้กล่าวถึง หมู่บ้านโอยามา (Oyama) ต้นกําเนิดของ OVOP เป็นชุมชนที่มีพื้นที่การเกษตรจํากัด และไม่มีอุตสาหกรรมหลัก อีกทั้งตั้งอยู่ห่างไกลจากเขตเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัด Oita
สำหรับหมู่บ้านโอยามานับเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ริเริ่มสร้างสรรค์ พึ่งพาตนเอง และพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งการพัฒนาชุมชนของหมู่บ้านโอยามานี้เป็นผลให้รัฐบาลยินยอมให้ดําเนินนโยบายที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน เพราะคนในชุมชนย่อมทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองได้ดีกว่าคนภายนอก
แนวคิดพื้นฐาน หรือหลักปรัชญา OVOP มี 3 ระดับการพัฒนา คือ
1.คิดระดับโลก แต่ทําระดับท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local Yet Global) นั่นคือ ผลิตสินค้าที่คงกลิ่นสี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สามารถเข้าถึงรสนิยมของผู้บริโภคทั่วประเทศและทั่วโลก ยิ่งเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะถิ่นมากเพียงไร ก็จะยิ่งมีชื่อก้องโลกได้เพียงนั้น
2.เป็นอิสระ พึ่งพาตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self-reliance and Creativity) คือกิจกรรมต่างๆต้องมาจากความต้องการของคนในชุมชนโดยตรง
และ 3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ของ OVOP แรงขับเคลื่อนที่แท้จริงของการพัฒนาภูมิภาค คือ "มนุษย์" ซึ่งจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความกล้าท้าทาย และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จึงจะสามารถเป็นผู้นำกระบวนการพัฒนาในแต่ละชุมชนได้ อันจะทําให้เศรษฐกิจของภูมิภาคพัฒนาไปได้อย่างอัตโนมัติและเป็นธรรมชาติ ดังนั้นคําว่า "ผลิตภัณฑ์" (หรือ product) มิได้หมายถึง "สินค้า"(หรือ goods) เท่านั้น แต่หมายถึงผลิตผลจากความสามารถของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนถึงการสร้างทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง