รายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา 27 ตุลาคม 2555
เมื่อ "โปรเจ็กต์การแก้ไขคำยืม ทั้งหมด 176 คำ"ถูกยุติลง พร้อมกับความพ่ายแพ้ของราชบัณฑิตยสถาน ที่ถูกกระแสต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชนที่รับไม่ได้หากต้องมีการเปลี่ยนการเขียน "คอมพิวเตอร์" เป็น "ค็อมพิ้วเต้อร์" ที่จะต้องมีการเติมเครื่องหมายวรรณยุกต์เพื่อให้สามารถออกเสียงคำเหล่านั้นได้ถูกต้องตามหลัก ก็ได้มีการไปสัมภาษณ์ ดร.กาญจนา ว่าทำไมราชบัณฑิตอยากเข้ามาปรับแก้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศเหล่านี้
ดร.กาญจนา บอกว่า "การออกเสียงคำที่ทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศนั้นเดิมๆที่เราอ่านและเขียนกันมันไม่ถูกต้อง ภาษาเรามีกฏของเราอยู่ ซึ่งบรรพบุรุษก็ได้มีการวางรูปแบบไว้ตั้งแต่โบราณกาลแล้ว มีทั้งอักษรสูง – กลาง –ต่ำ สระสั้น – ยาว มีวรรณยุกต์ที่ผสมออกมาเป็นคำ ถ้าผสมอย่างถูกต้อง ทุกคนก็จะสามารถออกเสียงได้เหมือนกันหมด จะอยู่ที่ไหนก็สามารถพูดได้ ทำไมถึงไปเอาความเคยชินแบบผิดๆมาเป็นบรรทัดฐาน และอีกอย่างนี่ก็เป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตอยู่แล้วที่จะต้องดูแลภาษาไทยให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องไม่เปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม"
ส่วนอาจารย์ นิตยา กาญจนสุวรรณ ได้อธิบายการใช้วรรณยุกต์กับภาษาต่างประเทศว่า "สิ่งที่ไทยเคยทำมาแล้วนั่นคือ เราจะไม่ใส่วรรณยุกต์ให้กับคำที่มาจากภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ อย่างคำที่ปรากฏอยู่ในภาษาบาลี สันสกฤต เขมร แต่จะใส่วรรณยุกต์ให้กับคำในภาษาที่ใส่วรรณยุกต์เช่น ภาษาลาวและภาษาจีน เครื่องหมายววรณยุกต์ไม่ใช่สิ่งโบราณกาล แต่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาทีหลังและบางตัวนั้นออกจะใหม่ด้วยซ้ำไป แต่เดิมภาษาไทยไม่นิยมเขียนวรรณยุกต์เพราะแต่เดิมภาษาไทยอาศัยอักษรมอญโบราณเป็นตัวเขียน"
ทางด้านอาจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช ได้กล่าวสรุปเกี่ยวเรื่องนี้ว่า "การที่เครื่องหมายวรรณยุกต์ตรีและจัตวามีใช้น้อยมา และจะปรากฏใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาจเป็นได้ว่าคำที่จะมีวรรณยุกต์จะเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศอย่างเช่น ภาษาจีน เช่นคำว่าโต๊ะ ตั๋ง อ๋อง ก๊ก เจี๊ยะ และคำอุทานอย่างเช่น อุ๊ย โอ๊ย"
วรรณยุกต์ไทยเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ200กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนวรรณยุกต์ที่เก่าที่สุดนั่นก็คือวรรณยุกต์เอกและวรรณยุกต์โท และวรรณยุกต์ตรีและวรรณยุกต์จัตวาเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานบอกว่าวรรณยุกต์ของเรามีใช้มาตั้งแต่โบราณกาลนั้นก็ไม่ได้เป็นความจริงอีกต่อไป