กระทรวงพาณิชย์แสดงความมั่นใจว่ายุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน จะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการค้า และเชื่อว่าไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอยู่แล้ว เชื่อมโยงจีนเข้ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
การรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมใหม่หรือ One Belt One Road เป็นโครงการอภิมหาโปรเจคของจีนที่ได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ในยุคนี้ที่มี นายสีจิ้นผิง เป็นประธานาธิบดี ซึ่งโครงการเส้นทางสายไหมใหม่เป็นการสถาปนาระเบียงเศรษฐกิจขนาดยักษ์ 2 เส้นทาง คือเส้นทางสายไหมทางบกที่จะเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลางโดยรถไฟและถนน และเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมจีนเข้ากับอาเซียน, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยใช้เรือขนส่งสินค้าทางทะเล ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนทุ่มงบประมาณกับโครงการนี้เป็นเงินจำนวนกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
แน่นอนว่าการที่จีนทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลให้กับโครงการนี้ เพราะมองว่าจีนจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลด้วยการมีตลาดใหม่มากมายในต่างแดนเพื่อรองรับสินค้าจำนวนมากจากจีนที่ตอนนี้มีกำลังการผลิตจนเกินความต้องการภายในประเทศ และคนงานจีนยังได้งานทำมากขึ้นจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ในต่างประเทศ จนบางประเทศก็เกิดความกังวลว่าจีนจะใช้เส้นทางสายไหมใหม่เพื่อเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากประเทศต่างๆเพียงฝ่ายเดียวหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
เส้นทางสายไหมใหม่เองก็ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง แม้ว่าโครงการเส้นทางสายไหมใหม่นี้จะไม่ผ่านประเทศไทยเลยทั้งทางบกและทางทะเล แต่ว่ามีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกรมพาณิชย์มองว่าไทยจะได้ประโยชน์เพราะไทยเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการค้า ทั้งทางบกและทางทะเลอยู่แล้วในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว โดยทางทะเลไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์อยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ทางบก ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งทางถนนและทางรถไฟ
ปัจจุบันจีนมีโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากเมืองคุนหมิง โดยมีปลายทางคือสิงคโปร์ซึ่งจะใช้จังหวัดเชียงรายเป็นจุดเชื่อมต่อ โดยรถไฟสายหนึ่งจะมุ่งหน้าสู่แหลมฉบังในจังหวัดชลบุรี และในอนาคตจะก่อสร้างไปจนถึงสิงคโปร์ และรถไฟความเร็วสูงยังจะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจของจีน คือแนวมะเลแหม่ง ที่เมืองดานังของเวียดนาม โดยจะเชื่อมต่อผ่านเส้นทางถนนกับเมืองทวาย ซึ่งไทยได้มีแผนรองรับเศรษฐกิจที่สี่แยกอินโดจีน จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งแล้ว