นักวิเคราะห์มองว่านโยบายซิงเกิล วีซา ของอาเซียนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวยังขาดการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่รัฐบาลประเทศภาคีต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและผ่อนปรนกฎหมาย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม
Skift บริษัทรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวสัญชาติอเมริกันระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลในอาเซียน ที่พยายามผลักดันให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแบบใช้ซิงเกิล วีซา ที่จะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศสมาชิกได้โดยใช้วีซาเดียวคล้ายกับสหภาพยุโรป ปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก ทั้งด้านการตลาดและกฎหมาย
สกิฟต์ อ้างถึงคำพูดของนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ซึ่งระบุว่าวีซาเดียวในอาเซียน อาจเริ่มใช้ได้ปลายปีนี้หรือในปี 2018 โดยจะเริ่มจากไทยกับกัมพูชาเป็น 2 ประเทศแรก
อย่างไรก็ตามผู้บริหารบริษัทชิก โลเคชันส์ ยูเค (Chic Locations UK) เอเจนท์ทัวร์ในอังกฤษที่เจาะตลาดลูกค้าระดับบนที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในอาเซียนระบุว่า แผนการตลาดและโฆษณาของภูมิภาคอาเซียน ในฐานะจุดหมายปลายทางเดียว ยังขาดการวางแผนล่วงหน้า โดยชี้ว่า ในยุโรป คำว่า"อาเซียน"ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และหากใช้คำดังกล่าวมาโปรโมทการท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสับสน
ด้านอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้กล่าวในเวทีประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก(WTCC) ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 26-27 เมษายนที่ผ่านมา ว่านโยบาย"น่านฟ้าเสรี" ( Open Skies ) ซึ่งอนุญาตให้สายการบินของชาติสมาชิกเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันได้ ยังไม่เปิดใช้อย่างเสรีในอาเซียน ถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีสายการบินระหว่างประเทศในภูมิภาคมากมายก็ตาม โดยมิชรากล่าวว่า ประเด็นนี้ ทำให้บางสายการบิน เช่น แอร์เอเชีย ต้องเปิดบริษัทแยกและร่วมมือกับสายการบินท้องถิ่น เมื่อเข้าไปเปิดสาขาในชาติอาเซียน ซึ่งหากนโยบายน่านฟ้าเสรีสามารถใช้ได้จริง จะทำให้ตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศในอาเซียนถูกลง และแข่งขันกับสายการบินจากภูมิภาคอื่นๆได้
ขณะเดียวกัน สาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวก็เป็นปัญหาใหญ่ของอาเซียน โดยในรายงานด้านขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2017 ของ World Economic Forum ให้คะแนนด้านความพร้อมของสนามบินในภูมิภาคเพียง 3.4 จากทั้งหมด 7 คะแนน ขณะที่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทาบกและทางน้ำมีคะแนนเพียง 3.5 จาก 7 คะแนนเท่านั้น โดยนายอารีฟ ยาห์ยา รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียได้ยกตัวอย่างสาธารณูปโภคประเทศตน และยอมรับในที่ประชุมดังกล่าวว่า ปัจจุบัน รัฐบาลอินโดนีเซียให้เงินสนับสนุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น นอกจากนี้ นายยาห์ยายังกล่าวว่า หากอาเซียนต้องการให้บริษัทร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น จะต้องผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ให้มากกว่าในปัจจุบัน
ขณะที่ผู้บริหารของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ระบุว่า บุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอาเซียนยังไม่เพียงพอที่จะรองรับกับการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้