หลังมีประเด็นว่าเหลนของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของเมียนมาไม่พอใจละครเพลิงพระนาง ก็ทำให้หลายคนหันมามองว่า ละครไทยมักไม่ค่อยสนใจกลุ่มคนดูจากประเทศในอาเซียนมากนัก ทั้งที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน และอาจถึงเวลาแล้วที่นำธุรกิจเผยแพร่ละครไทยในประเทศเพื่อนบ้านขึ้นมาบนดินเสียที หลังจากที่ผ่านมามีแต่การละเมิดลิขสิทธิ์
หลายทศวรรษที่ผ่านมา ละครไทยได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา เนื่องจากละครไทยมักมีภาพของความเจริญทางสังคม แฟชั่นและเทคโนโลยี จนเกิดเป็นธุรกิจตระเวนฉายละครไทย ซื้อขายแผ่นซีดีและดีวีดีละครไทย ไปจนถึงรับโหลดละครไทยลงสมาร์ทโฟนในกับคนงานโรงงาน ซึ่งกลายเป็นตลาดใหญ่เลยทีเดียว แต่ทั้งหมดนี้กลับเป็นธุรกิจใต้ดิน ที่ไทยเองแทบไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆเลย
จากการศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมพร จิรฐัติกร จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า ประเทศที่นิยมละครไทยมากที่สุดจนมีธุรกิจเป็นล่ำเป็นสันก็กัมพูชา ที่เป็นแฟนละครไทยมาหลายสิบปีแล้ว แม้หยุดชะงักไปบ้างช่วงหลังเหตุเข้าใจผิดในละครเรื่อง ลูกไม้ไกลต้น ที่มีกบ สุวนันท์ คงยิ่ง เป็นนางเอก จนมีการเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา และช่วงตัดสินคดีพิพาทเขาพระวิหาร แต่คนกัมพูชาก็ชอบละครไทยมาก โดยเฉพาะเรื่องชิงรักหักสวาททั้งหลาย เพราะละครไทยมักฉายให้เห็นภาพชีวิตหรูหรา มีฉากวิวาทที่ถึงใจ แต่ก็ยังมีคติสอนใจอยู่
ขณะที่ลาวเองก็มีความใกล้เคียงทางภาษาอยู่แล้ว จึงแทบไม่มีอุปสรรคใดๆเลยในการดูละครไทย แต่ชาวพม่าเองไม่ค่อยนิยมดูละครไทยมากนัก ยกเว้นคนที่อยู่ติดชายแดนไทย เพราะซีรีส์เกาหลีเข้าไปเจาะตลาดในเมียนมาได้ก่อนจนมีแฟนเหนียวแน่นมาก แต่ชาวไทใหญ่ก็มักชื่นชอบละครไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภูตผี ละครสอนใจตามหลักการพุทธศาสนา หรือการปลุกใจรักชาติ แต่ละครที่เป็นเรื่องรักสดใสจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก ในเวียดนามเหนือก็ยังคงนิยมละครเกาหลีมากกว่า แต่ละครไทยจะมีแฟนละครอยู่ในเวียดนามใต้ เพราะสภาพอากาศใกล้เคียงกัน แฟชั่นจึงใกล้เคียงกัน และบางคนเห็นซีรีส์เกาหลีมีเนื้อหาไม่แปลกใหม่ ไม่หักมุมเท่าละครไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ละครที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของไทยก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตีตลาดกลุ่ม LGBTQ ทั้งอาเซียนและจีนได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ก็คือ ผู้ผลิตละครไทยมองว่า ตลาดละครในอาเซียนยังไม่ใหญ่พอ เมื่อเทียบกับการส่งละครไปขายในจีน จึงอาจไม่คุ้มกับการลงทุนแปลซับไตเติลหรือพากย์เสียงทับ ทำให้ก่อนหน้านี้ บริษัทอย่างเอ็กแซคท์ส่งละครไปขายแต่ในจีน จนกระทั่งจีนเปลี่ยนใจห้ามละครต่างชาติเข้าไปฉาย ความพยายามในการตีตลาดในเอเชียจึงลดลงไป นอกจากนี้ ลิขสิทธิ์ของละครยังเป็นช่องโทรทัศน์ ไม่ใช่ของบริษัทผู้ผลิตละคร ยกเว้นค่ายเอ็กแซคท์ ดังนั้น หากช่องโทรทัศน์ไม่สนใจตลาดเพื่อนบ้าน โอกาสในการส่งละครไปขายต่างประเทศก็เป็นศูนย์
รองศาสตราจารย์กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษายุทธสาสตร์ของอุตสาหกรรมบันเทิงของจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แล้วแนะนำว่า รัฐบาลไทยควรมีมาตรการสนับสนุนละครไทยอย่างเป็นระบบกว่านี้ ละครไทยก็จะสามารถตีตลาดเพื่อนบ้านได้ ขณะเดียวกันไทยก็จะได้ผลประโยชน์จากซอฟต์ พาเวอร์อย่างละคร ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมมากกว่านี้
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมพรก็แนะนำว่า หากละครไทยจะตีตลาดให้ไกลกว่าเพื่อนบ้านไปเป็นการขายตลาดอาเซียน ผู้ผลิตละครควรศึกษาว่า จะมีโอกาสทำเงินจากการฉายละครบนโลกออนไลน์ได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน มีแฟนละครไทยแปลละครไทยไว้ดูกันบนอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในเวียดนามและจีน
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ทั้ง 2 ท่านเห็นตรงกันว่า ละครไทยควรปรับเนื้อหาโดยคำนึงถึงผู้ชมต่างประเทศให้มากขึ้น และระวังเรื่องอคติทางเชื้อชาติ หากต้องการตีตลาดเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง เพื่อให้ตัวเลือกในการส่งละครไปขายมีมากขึ้น