การรับชมภาพยนตร์สามมิติในปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้แว่นสามมิติ แต่ในอนาคตอันใกล้ แว่นดังกล่าวอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยทาง MIT ได้คิดค้นการรับชมภาพยนตร์สามมิติแบบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้แว่น แต่จะเน้นการจัดเรียงของกระจกและเลนส์ เพื่อทำให้เกิดภาพสามมิติระหว่างการรับชม
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐอเมริกา หรือ MIT ได้พัฒนาเทคโนโลยีภาพยนตร์สามมิติที่ทำให้ผู้ชมสามารถดูด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องใช้แว่นตาสามมิติอีกต่อไป โดยการพัฒนาครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของ MIT และสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ในอิสราเอล ในการคิดค้นหน้าจอแบบใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ชมรับชมภาพยนตร์ 3 มิติโดยไม่ต้องใช้แว่นตาที่อาจมีรอยขีดข่วนให้รำคาญใจ
ซึ่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า นี่คือการทดลองครั้งแรกที่ช่วยให้คนสามารถดูภาพยนตร์ 3 มิติด้วยตาเปล่า และไม่เป็นอันตรายต่อสายตา โดยเทคโนโลยีการแสดงผลของภาพยนตร์ 3 มิติแบบดั้งเดิมนั้น จะเน้นการครอบคลุมภาพในมุมกว้าง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ได้ความละเอียดที่ไม่ดีนัก ในขณะที่เทคนิคใหม่ของ MIT โรงภาพยนตร์ 3 มิติของพวกเขาจะให้มุมมองภาพที่แคบลง ซึ่งจะทำมุมกับแต่ละที่นั่งในโรงภาพยนตร์ โดยอาศัยการจัดเรียงของกระจกและเลนส์ ที่ทำให้เอฟเฟค 3 มิติเด้งขึ้นมาจากหลายมุม
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่า มันยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานจริงในตอนนี้ เพราะยังต้องใช้เวลาวิจัยเพิ่มเติม แต่ในอนาคตอันใกล้ พวกเขามั่นใจว่าการพัฒนานี้จะเหมาะสำหรับการใช้งานของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
ซึ่งเทคโนโลยีของภาพยนตร์สามมิติ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1838 แต่กระแสความนิยมในภาพยนตร์สามมิติเริ่มขึ้นจริงจัง ในยุค 1950 ส่วนภาพยนตร์ที่ทำให้การรับชมแบบสามมิติฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ก็คือเรื่อง Avatar ที่ออกฉายในปี 2010 ที่นับว่าเป็นสุดยอดของวงการภาพยนตร์สามมิติ และทำให้มีการผลิตภาพยนตร์สามมิติอีกหลายเรื่องตามมาหลังจากนั้น