ผ้าแคชเมียร์ที่ผลิตในมองโกเลียคุณภาพต่ำลง หลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้แพะขาดสารอาหาร ส่งผลกระทบต่อเส้นใยผ้า
ปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่มองโกเลียเผชิญมาตั้งแต่ปี 2010 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของผ้าแคชเมียร์ ซึ่งมองโกเลียถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงแพะ เพราะมีที่ราบทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาล แต่หลังจากเกิดปัญหาภัยแล้ง ปริมาณหญ้าที่ขึ้นปกคลุมตามพื้นที่ต่างๆก็มีน้อยลง ทำให้แพะที่เลี้ยงไว้ขาดสารอาหาร ประกอบกับฤดูหนาวที่หนาวจัด ทำให้ปศุสัตว์นับล้านตัวตาย รวมถึงแพะที่เลี้ยงไว้เพื่อผลิตผ้าแคชเมียร์ด้วย ปัญหาเหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของผ้าแคชเมียร์ที่ผลิตในมองโกเลีย
เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานจากสวิตเซอร์แลนด์เพื่อการพัฒนาและความร่วมมือในมองโกเลีย ให้สัมภาษณ์ว่า กว่า 70 % ของทุ่งหญ้าในมองโกเลีย มีปริมาณหญ้าลดลง สวนทางกับจำนวนปศุสัตว์ที่มีมากถึง 56 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นแพะมากถึง 20 ล้านตัว
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุ่งหญ้าในมองโกเลียมีปริมาณหญ้าน้อยลง เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะที่ ความต้องการผ้าแคชเมียร์จากต่างชาติ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นผ้าที่มีคุณภาพดี ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งจากข้อมูลของ Bain and Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระบุว่า ผ้าแคชเมียร์เป็นสินค้าระดับหรู ที่มีการซื้อขายในท้องตลาดคิดเป็นมูลค่ามากถึง 4,000 ล้านยูโร โดยแบรนด์ชื่อดังอย่าง H&M และ Zara ก็เริ่มหันมาใช้ผ้าแคชเมียร์ในการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นด้วย