นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ เดอะ โกลบอล สเตท ออฟ อินฟอร์เมชั่น ซิเคียวริตี้ เซอร์เวย์ 2016 : เทิร์นอะราวนด์ แอนด์ ทรานส์ฟอร์เมชั่น อิน ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ โดยสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจและผู้นำบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกกว่า 10,000 ราย ใน 127 ประเทศ
โดยจากจำนวนภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ทั่วโลกในปี 2558 เพิ่มขึ้น 38% แม้ผู้บริหารทั่วโลกจะเริ่มตระหนักถึงภัยไซเบอร์ และหันมาเพิ่มงบลงทุนทางด้านการรักษาความปลอดภัยด้านไอทีอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม เพราะปัจจุบันอาชญากรคอมพิวเตอร์มีทักษะในการก่ออาชญากรรมที่เชี่ยวชาญและซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการมากขึ้น
ส่วนผู้บริหารทั่วโลกถึง 91% มีความตระหนักต่อการนำรูปแบบการรักษาความปลอดภัยมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการนำระบบคลาวด์ และอื่นๆ มาช่วยตรวจจับการกระทำผิด แต่จำนวนภัยคุกคาม ความถี่ในการโจมตี รวมถึงความรุนแรงและผลกระทบจากภัยไซเบอร์กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้จากเม็ดเงินการลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลขององค์กรทั่วโลกในปีนี้(58) ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 24% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (57) ที่การลงทุนลดลง 4% อยู่ที่ 4 ล้าน 1 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 147 ล้านบาท
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาคือ ข้อมูลที่ต้องการจัดเก็บมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ (Big Data) และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The Internet of Things หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ โดยเทคโนโลยีนี้ มีทั้งข้อดีและความเสี่ยง ต่อความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
จากผลสำรวจของ IDC คาดการณ์ว่า ในปี 2563 จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นถึง 3 หมื่นล้านชิ้น จากในปีนี้ที่มี 13,000 ล้านชิ้น และบริษัทมากกว่า 1 ใน 4 หรือ 36% เริ่มมีกลยุทธ์ในการการรักษาความปลอดภัยด้าน IoT แล้ว