องค์การยูเนสโก ได้ประกาศ “ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ” ในวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อให้ชาวโลก ได้ตระหนักถึง หลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานในเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งหมายถึงเสรีภาพของประชาชน เป็นการยืนยันเสรีภาพในด้านความคิด และการแสดงออกของประชาชน รวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชนต้องได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย
สำหรับสื่อมวลชนในประเทศไทยได้มีการจัดอันดับ เสรีภาพของสื่อด้วยกัน ซึ่งพบว่า ถูกลดอันดับจาก กึ่งเสรี เป็น ไม่เสรี อันเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฏหมายว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ การดำเนินความผิดตาม ม.112 และการที่สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมือง
จึงนำมาสู่การรณรงค์ เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องตระหนักถึง “เสรีภาพของสื่อมวลชน บนความรับผิดชอบ”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ สื่อมวลชนต้องหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก
แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย
2.การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง นอกจากความรับผิดชอบแล้ว การมีเสรีภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงไม่ควรถูกแทรกแซงจากภาครัฐ กลุ่มอิทธิพล รวมถึงกลุ่มทุนใดๆ
3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดย เฉพาะวุฒิสภา ต้องดำเนินการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างโปร่งใส นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายรัฐบาลควร ระมัดระวังการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง
4.รัฐบาลต้องยุติการออกกฎหมายที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
5.ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ การมีวิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสารถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะเดียวกันสื่อภาคประชาชน และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)พึงตระหนักถึงกระบวนการนำเสนอด้วยความรับผิดชอบเช่นกัน
Produced by VoiceTV