หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และลดระดับมาบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทหารยังคงตั้งบังเกอร์ตามจุดสำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร ส่วนรัฐบาลจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ดูแลสถานการณ์
บรรยากาศจุดตรวจบังเกอร์ทั้ง 176 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร หลังคณะรัฐมนตรี มีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทีมข่าวว๊อยส์ทีวี เดินทางสำรวจ 3 จุดสำคัญ คือ บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล บริเวณศาลอาญา ถนนรัชดา และบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ชุมนุม
พบว่าทั้ง 3 จุดมีทหารประจำการตามปกติเหมือนเดิม โดยหนาแน่นมากบริเวณอังรีดูนังต์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทหารประจำหน่วยให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ตนยังไม่ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังจากผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด และยังไม่ทราบความแน่ชัดในมติ ครม.วันนี้
สำหรับโครงสร้างการทำงานตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน โดยกำหนดให้จัดตั้งเป็นศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ประกอบไปด้วย ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง เป็น ผู้อำนวยการ ศอ.รส. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นรอง ผู้อำนวยการ ศอ.รส.
พลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา และ พลโทธีรชัย นาควานิช เป็น ผู้ช่วย ผู้อำนวยการ ศอ.รส. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นเลขาธิการ ศอ.รส./พลตำรวจโทโสภณ พิสุทธิวงศ์ เป็นรองเลขาธิการ ศอ.รส. นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งที่ปรึกษา 24 นายประกอบด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และปลัดกระทรวงทุกกระทรวง
กำหนดอัตรากำลังในการควบคุมดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจะใช้กำลังตำรวจ ทหารและพลเรือน เกือบ 7 หมื่นนาย มีตำรวจเป็นกำลังหลัก และทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน
ความแตกต่างระหว่าง กฎหมายความมั่นคง 2 ฉบับ พ.ร.บ.ความมั่นคง ประชาชนฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฟ้องไม่ได้ /พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังอนุญาตให้มีการชุมนมได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่อนุญาตให้ชุมนุมและให้อำนาจมากกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุมได้
และหลังเสร็จสิ้นการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง รัฐบาลต้องทำรายงานไปยังรัฐภา และเปิดให้รัฐสภาสอบถาม ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆจึงต้องมีแผนงานชัดเจน แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่จำเป็นต้องรายงานต่อรัฐสภา