ไม่พบผลการค้นหา
องค์การการท่องเที่ยวโลกชี้ นโยบายเปิดประเทศสะท้อนการเมืองภายในเช่นเดียวกับความพึ่งพาการท่องเที่ยว หลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนปรนกติกาเปิดรับต่างชาติเข้าประเทศมากขึ้น ฝั่งเอเชีย สิงคโปร์นำทัพ ตามมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ด้านไทยยังไม่ชัดเจน

ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ไทยเสียเม็ดเงินที่ควรได้จากการท่องเที่ยว อย่างต่ำเดือนละ 1.5 แสนล้านบาท เพราะมาตรการปิดประเทศป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

เมื่อไม่สามารถแบกความเสียหายได้ต่อไป คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ณ 15 ก.ย. 2563 ให้เปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Spacial Tourist Visa) หรือชาวต่างชาติที่มีกำลังใช้จ่ายสูงเข้ามาช่วยเหลือกิจการท่องเที่ยว 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่ามีชาวจีนราว 300 ราย ยื่นความประสงค์ขอเข้าประเทศ ในเดือน ต.ค.นี้ แม้จะยังไม่มีความแน่ชัดว่าประเทศจะเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามากลุ่มแรกเมื่อไหร่กันแน่

อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติหลักร้อยรายดังกล่าวแทบไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย เมื่อเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน เมื่อ ต.ค. 2562 ที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ถึง 1.47 แสนล้านบาท 

หน้ากาก นักท่องเที่ยว โควิด  โคโรนา สุวรรณภูมิ
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ยิ่งเมื่อพิจารณาว่า สัดส่วนต่อจีดีพีของปีก่อนหน้าถึง 36.2% อยู่ในภาคบริการ ซึ่งผนวกรวมการท่องเที่ยวไว้ หากจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้หันหัวขึ้นมาจากการติดลบถึง 12.2% ในไตรมาสที่ 2/2563 ไทยจึงต้องการกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าที่เป็นอยู่

'วอยซ์ออนไลน์' ชวนทำความเข้าใจนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพิงอยู่กับการท่องเที่ยวไม่ต่างจากไทย ว่ารัฐบาลของชาติเหล่านี้งัดกลยุทธ์ประเภทไหนขึ้นมาเอาตัวรอด 


แผนเอาตัวรอด 'ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์'

ช่วง พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประกาศแผนการทำนโยบายท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศในทะเลแทสมัน (Trans-Tasman bubble) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชากรของทั้ง 2 ประเทศ เดินทางไปมาระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว โดยวางแผนไว้ว่าจะเริ่มบังคับใช้นโยบายดังกล่าวในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม หลังประกาศแผนดังกล่าวไม่นาน รัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 6 ล้านคน ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ มีผลทำให้ต้องเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป ทั้งที่ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ทำรายได้จากการนักท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ด้วยมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2562 ตามข้อมูลจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก และนิวซีแลนด์ ได้อานิสงส์ภาคบริการในรูปของการจ้างงาน 8.4% ของแรงงานทั้งประเทศ  

ล่าสุด เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ออกมาแก้เกมใหม่ด้วยการชี้ว่า หากชาวนิวซีแลนด์คนใดที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นระยะเวลา 14 วัน สามารถเดินทางเข้ามายังรัฐนิวเซาท์เวลส์และพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศโดยไม่ต้องมีการกักตัวได้ โดยออสเตรเลียจะกลับมาเปิดเส้นทางระหว่างประเทศในวันที่ 16 ต.ค.นี้ 

นิวซีแลนด์ - AFP
  • จาร์ซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

ทว่า จาร์ซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์มองว่าการเปิดพรมแดนให้ชาวออสเตรเลียเดินทางเข้าประเทศโดยไม่มีการกักตัวเป็นความเสี่ยงมากเกินไป และนับจนถึงปัจจุบัน นิวซีแลนด์ยังไม่พร้อมใช้มาตรการเดียวกับออสเตรเลีย 


เยือนยุโรปอีกครั้ง
ธงชาติ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว สวิตเซอร์แลนด์
  • บรรยากาศจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะฝั่งรัฐบอลติก ซึ่งประกอบไปด้วย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย นำหน้าประเทศอื่นๆ ด้วยการเปิดพรมแดนให้มีการท่องเที่ยวในประเทศทั้ง 3 แล้วตั้งแต่เมื่อ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา แล้วต่อมา 1 เดือนก็มีฮังการีและ 3 ประเทศสแกนดิเนเวียบรรลุข้อตกลงให้ประชาชนของประเทศตนเองเดินทางข้ามพรมแดนได้ 

เท่านั้นยังไม่พอ สหภาพยุโรปยังริเริ่มโครงการ 'เปิดอียูอีกครั้ง' (Re-open EU) ด้วยการสร้างกฎร่วมสำหรับประเทศในสหภาพยุโรปกับประเทศอื่นๆ ให้สามารถเดินทางถึงกันได้ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, จอร์เจีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, รวันดา, เกาหลีใต้, ไทย, ตูนิเซีย และอุรุกวัย ทั้งนี้มาตรการการขอวีซ่ายังคงไว้เช่นเดิม 

ตามข้อมูลจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ทวีปยุโรปสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.2 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 9.1% ของจีดีพีทั้งปี 2562 ที่ผ่านมา 


เปิดเอเชีย เปิดพรมแดน-น่านฟ้ารับชาวต่างชาติ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่มีความพยายามผลักดันเรื่องการเปิดพรมแดนให้มีการท่องเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่ง ล่าสุด เมื่อ 6 ต.ค.ที่่ผ่านมา ออง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ประกาศว่า "ข้อความที่เราอยากส่งออกไปทั่วโลก คือสิงคโปร์เริ่มกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้งแล้ว" 

AFP - Singapore Airlines สิงคโปร์ แอร์ไลน์
  • ลูกเรือจากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส

ความพยายามเปิดประเทศครั้งนี้ไม่ได้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศเท่านั้น แต่สิงคโปร์ยังต้องการรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางการสัญจรทางอากาศของโลก พร้อมๆ กับการประคองเศรษฐกิจที่ติดลบไปถึง 13.2% ในไตรมาสที่ 2/2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนหน้า 

ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้นักเดินทางจากนิวซีแลนด์และบรูไนสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวได้แล้ว ขณะที่ชาวต่างชาติจากออสเตรเลียและเวียดนามจะได้สถานะเดียวกันหลังวันที่ 15 ต.ค.เป็นต้นไป นอกจากนี้ นักธุรกิจจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ สามารถเดินทางเข้ามาทำธุรกิจในสิงคโปร์ได้เช่นเดียวกัน 

สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ปัจจุบันรัฐบาล 2 ประเทศ ได้ข้อตกลงในการเปิดพรมแดนการเดินทางประเภทธุรกิจและผู้พักอาศัยระยะยาว ให้สามารถเดินทางถึงกันได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ยังต้องยื่นใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผู้เดินทางปราศจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 


เปิดประเทศ = นโยบายการเมือง

ตามข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ณ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เหลือประเทศราว 43% จาก 53% (ข้อมูล ณ 19 ก.ค.) ที่ยังคงปิดพรมแดนไว้ ขณะที่อีก 30% เปิดประเทศบางส่วน พร้อมกันนี้ ราว 16% ของประเทศทั่วโลกเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้โดยมีเงื่อนไขให้มีใบรับรองแพทย์เข้ามาแทน ซึ่ง UNWTO ชี้ว่า มาตรการเปิดพรมแดนไม่ใช่เพียงกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นนโยบายสำคัญทางการเมืองของรัฐบาลทั่วโลก 

รายงานเสริมว่า เมื่อมองความเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่เปิดให้มีการเดินทางข้ามพรมแดนนั้น เห็นรูปแบบความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างระดับการเปิดประเทศกับระดับความพึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาระดับการติดเชื้อเทียบกับการเปิดประเทศ รายงานชี้ว่า การเปิดประเทศให้มีการเดินทางไม่ได้ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ 

ตัวเลขคาดการณ์ผลกระทบโดยรวมจาก สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกชี้ด้วยว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวราว 98.2 ล้านคนทั่วโลกจะตกงาน ขณะที่ในกรณีทั่วไปและกรณีเลวร้าย ประชากรทั่วโลกมากถึง 121.1 และ 197.5 ล้านคน จะกลายเป็นผู้ไม่มีงานทำ 

ในทำนองเดียวกัน เศรษฐกิจโลกอาจได้รับความเสียหายสูงที่สุดถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (171 ล้านล้าบาท) หรือในกรณีโชคดีกว่านั้นก็จะสูญเม็ดเงินราว 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (81 ล้านล้านบาท) อยู่ดี 

อ้างอิง; Bloomberg, NYT, RNZ, CAPA, Nippon.com, UNWTO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;