ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกายกฟ้อง 'สุชาณี' อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ปมรายงานข่าว แรงงานเมียนมา 14 คน ชี้ จำเลยเป็นผู้สื่อข่าว มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม ด้าน 'สุชาณี' เผย สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญที่สื่อต้องรายงาน

วันที่ 9 ส.ค. 2565 ที่ศาลจังหวัดลพบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดำ อ118/62 ที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง สุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าว วอยซ์ ทีวี แผนกข่าวต่างประเทศ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีรีทวีตแจ้งข่าวแรงงานเมียนมา 14 คนในฟาร์มไก่ธรรมเกษตร โดยมี กมลวรรณ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลพบุรี เป็นผู้นั่งบนบัลลังก์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 14 ก.ย. 2561 สุชาณี ได้รีทวิตแจ้งข่าวคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่ส่งผลให้ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ในฐานะผู้ประกอบกิจการฟาร์มไก่ที่ จ.ลพบุรี ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานชาวเมียนมาทั้ง 14 คน เป็นจำนวน 1.7 ล้านบาทเศษ และในข้อความดังกล่าวมีคำว่า "กรณีใช้แรงงานทาส" จึงทำให้ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องร้องหมิ่นประมาท 

โดย ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ สุชาณี สู้คดีโดยใช้เงินประกันตัว 75,000 บาท และสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ โดยต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) 

ต่อมา ศาลฎีกา มีความเห็นว่า ข่าวที่เผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวี ที่ระบุว่า 'กสม. มีมติยืนยันการสอบสวนฟาร์มไก่ในลพบุรี' และจำเลยเป็นผู้เขียน หมายถึงโจทก์ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานในประเด็นการไม่จ่ายค่าแรงงานตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า การที่จำเลย โพสต์ข้อความ เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยได้รับ การโพสต์ข้อความจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีอคติ หรือนำเสนอข่าวเพื่อให้มีอำนาจเหนือโจทก์ จุดมุ่งหวังเพื่อที่จะขายข่าวเอาประโยชน์ใส่ตน และนายจ้าง จึงฟังไม่ได้ว่า เป็นการกระทำโดยทุจริตตามที่โจทก์ตีความ 

ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลย เป็นสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานโดยตรง และในฐานะประชาชน ย่อมมีสิทธิตรวจสอบ วิพากวิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ติชม โจทก์ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องด้วยข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ผู้พิพากษา ยกฟ้อง มานั้นชอบแล้ว และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย 

ภายหลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น สุชาณี คลัวเทรอ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว วอยซ์ ว่า ตนรู้สึกดีใจ และขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรม และเห็นใจการทำงานของสื่อในการนำเสนอข่าวที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสื่ออยู่แล้ว และเนื่องจากคดีของตนก็ใช้ระยะเวลาในการพิจารณายาวนานจึงดีใจที่มันจบ

สุชาณี กล่าวอีกว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนที่ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคม เป็นเรื่องสำคัญที่สื่อต้องฉายแสงไปที่คนกลุ่มนี้ เพราะถ้าสื่อ ไม่พูด แล้วใครจะพูด 

พร้อมย้ำว่า ณ วันนั้นที่ตนได้นำเสนอข่าวนี้ คิดแต่ว่า มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศ และเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ควรได้รับการเผยแพร่ อีกทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาด้วย ซึ่งสำหรับประสบการณ์ของตนแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคมมากนัก ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สาธารณชนควรได้รับรู้ และยืนยันว่า สื่อคือสื่อ สื่อต้องนำเสนอเรื่องที่เป็นสาธารณะ

สุชาณี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ของสิทธิเสรีภาพสื่อในไทยอีกว่า จากประสบการณ์ตัวเอง ลึกๆ รู้สึกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เสรีภาพสื่อได้รับความตระหนักรู้มากขึ้น หลายๆ คนในสังคม รวมถึงกลุ่มคนที่เป็นผู้ออกกฎหมาย หรือเป็นผู้ตัดสินใจทางกฎหมายก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น 

ขณะที่ก่อนหน้านี้องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน Reporter Without Borders (RSF) ได้ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินจำคุกสองปี และขอเรียกร้องให้ระบบยุติธรรมของไทยเปลี่ยนคำตัดสินในชั้นอุทธรณ์ และมีรายงานว่าดัชนีโลกด้านเสรีภาพสื่อมวลชนปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 136 จาก 180 ประเทศ