ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลต้องโปร่งใส-วางแผนบริหารวัคซีนให้ชัดเจนกว่านี้ ถ้าแก้โควิดไม่ได้ เศรษฐกิจก็ไม่เดินต่อ คนไทยก็ไร้ทางลืมตาอ้าปาก

Tony Woodsome หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาอีกครั้งท่ามกลางวิกฤตความสับสนและการบริหารจัดการวัคซีนไทยที่กลับไปกลับมาจนเป็นการ 'แก้เรื่องง่ายให้กลายเป็นยาก' ด้วยน้ำมือของรัฐบาล

จุดเริ่มต้นของการติดกระดุมเม็ดแรกผิดครั้งนี้ ดร.ทักษิณ อธิบายว่า เริ่มมาจากการแทงม้าตัวเดียวในช่วงแรก ผ่านการสั่งซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแต่เพียงแบรนด์เดียว โดยปราศจากการวางแผนที่รอบคอบมากพอ

เมื่อเกิดการระบาดระลอกถัดมา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเลือกที่จะสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มแค่เพียงแบรนด์เดียวจากจีนอย่าง 'ซิโนแวค' เท่านั้น

เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับนโยบายวัคซีนทางเลือกในปัจจุบัน รัฐบาลเองยังไม่ให้ความชัดเจนกับประชาชนว่าสรุปแล้ว 'ไฟเซอร์' และ 'จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน' ที่กำลังจะเข้ามา จะเข้ามาในรูปแบบใด และเมื่อวัคซีนเข้ามาเพิ่มแล้ว 'แอสตร้าเซนเน้ก้า' ที่มีผลข้างเคียงกับประชากรกลุ่มวัยหนุ่มสาวจะยังต้องฉีดวัคซีนตัวนี้อยู่หรือไม่

"สรุปเราไม่มีแผน ใช่ไหม ใครมาเจออะไรก็ฉีดแบบนั้น ใช่ไหม ไม่สนใจใช่ไหมว่าใครจะแพ้ไม่แพ้"

"มันสับสนเพราะรัฐบาลไม่ไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าต่อไปจะเอายังไง มันต้องมีแผนรองรับ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มันไม่ควรสับสนขนาดนี้"

ดร.ทักษิณ ย้ำถึงสี่ตัวเลขสำคัญที่รัฐบาลต้องออกมาประกาศอย่างโปร่งใส ซึ่งประกอบไปด้วย ยอดสั่งซื้อ, ตัวเลขที่เข้ามาจริง, ตัวเลขที่วางแผนจะฉีด และตัวเลขที่ฉีดจริง พร้อมแนะว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงหัวอกของประชาชนที่สับสนกับการเสพข้อมูลที่ไม่ตรงกันเหล่านี้ด้วย ดังนั้น การจะแถลงข้อมูลจึงควรเป็นเรื่องที่ไม่ต่างคนต่างทำ และประสานแต่ละหน่วยงานให้ดีกว่านี้

ในประเด็นวัคซีนนี้ อดีตนายกฯ กลับมาย้ำที่ประเด็นเงินกู้กับยุทธศาสตร์การใช้เงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากยังปล่อยให้เม็ดเงินตรงนี้หมดไปกับอะไรที่สูญเปล่า ไทยจะไม่สามารถเปิดประเทศได้ และเงินช่วยเหลือมากแค่ไหนก็ไม่มีทางเพียงพอ

"ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลขี้เหนียวเงินมาทำไม กู้มาตั้งเยอะ อันนี้คือระบบบริหารที่พังมานาน คือตั้งงบประมาณแล้วผลาญให้หมด"

"ถ้าเศรษฐกิจเปิดไม่ได้ เจ๊งนะ ที่กู้มา ต่อไปเงินจะจ่ายดอกก็ไม่พอนะ"

แก้หนี้ให้คนไทย

การแก้ปัญหาหนี้สินให้คนไทย สามารถตอบได้โดยเร็วด้วยการเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนด้วยตัวของมันเองแทนการแจกเงินอย่างเดียว เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่ประเทศที่มีรายได้สูงก็ยังทนไม่ไหวกับสภาพรัฐที่ขาดรายได้ภาษีและเริ่มประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวกันแล้ว

"ทุกคน ทุกประเทศ เขาทนไม่ไหว ของเราที่ทนไหวเพราะหมดเงินก็กู้ เพราะกูไม่ได้ใช้(หนี้คืน)"

การหาทางให้คนรายได้น้อยมีงานทำ เพิ่มอัตราการจ้างงาน เพิ่มช่องทางทำมาหากินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ นโยบายเหล่านี้ควรถูกหยิบมาชูเป็นหลักมากกว่าการเพิ่มโรงรับจำนำที่ดอกเบี้ยแพงและไม่ใช่ช่องทางทำมาหากิน

"ไปปรับโครงสร้างหนี้ ขยายช่องทางทำมาหากิน มากกว่าขยายช่องทางหมดตัวเถอะ"

นอกจากนี้เมื่อมองไปในระยะยาว แท้จริงแล้วประเทศไทยสามารถขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่ีมีรายได้ระดับสูง (ประชากรต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวตั้งแต่ 385,000 บาท/ปี ขึ้นไป) อย่างไต้หวันหรือเกาหลีใต้ได้ แต่ต้องอยู่ที่ผู้บริหารประเทศ ที่ต้องวางอนาคตที่เหมาะสมให้กับคนรุ่นต่อไป

นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่ทีมบริหารประเทศต้องจัดสรรทั้งการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ประกอบกับการลดระดับหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนของไทยให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

ผู้นำของไทยยังต้องวางแผนรับมือกับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ หากไทยยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชากรอย่างน้อยสามรุ่น: เจนวาย เจนซี และเจนอัลฟา ต้องแบกรับผลกระทบกันไปหมด หาทางลืมตาอ้าปากไม่ได้สักที


นายกคนใหม่ของไทย

สำหรับหนทางสู่การมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย ดร.ทักษิณ เตือนถึงการเลือกตั้งในครั้งหน้าว่า "รับรองว่าจะมีการซื้อเสียงอย่างหนัก เพราะตอนนี้รายได้ดี ตอนนี้ทะลุมาฝั่ง ส.ส.ฝ่ายค้านบ้างแล้ว"

"การเมืองมันกลับมาเน่าเหมือนเดิม ตอนนี้เสียงเป็นเบี้ยหัวแตกเต็มไปหมด การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหัวใจสำคัญ ถ้า ส.ว. 250 เสียงยังอยู่ สาม ป. ก็ผลัดกันมา จนตายกันไปข้างนึง"

ความน่ากังวลของเผด็จการแบบไทยคือกำลังเดินหน้าไปสู่แบบแอฟริกา ที่คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจด้วยเวลายาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ซ้ำร้าย ยังดูเหมือนว่าเผด็จการทหารของเมียนมากำลังเลียนแบบไทยอีกที

ดร.ทักษิณ ปิดท้ายว่า ไทยมีทางเลือกที่จะเดินไปข้างหน้าแบบเกาหลีฯ ได้ อยู่ที่ว่า "ตกลงเราเป็นจะเกาหลีใต้หรือเกาหลีเหนือดี"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;