ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ 'เดลตา พลัส AY.4.2' ระบาดในไทย ส่วนโควิดสายพันธุ์ 'เดลต้า พลัส AY.1' พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ใน จ.กำแพงเพชร รักษาหายแล้ว ด้าน รมช.สธ.ย้ำยังไม่มีนัยสำคัญที่ต้องทบทวนการเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังเชื้อโควิด 19 กลายพันธุ์ และการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ ว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 เป็นเรื่องปกติ เราให้ความสำคัญกับสายพันธุ์ที่ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แพร่เร็วหรือติดต่อง่ายขึ้น ดื้อต่อยารักษาหรือวัคซีน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังสายพันธุ์มีการติดตามเก็บตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยมาตลอดเมื่อพบสายพันธุ์ใหม่ในแต่ละพื้นที่มีการรายงานและชี้แจงให้ทราบ เช่น สายพันธุ์เบตา เดลตา เป็นต้น โดยเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ติดตามเข้าถึงข้อมูลได้ รวมถึงมีการส่งข้อมูลไปยังนานาชาติด้วย

DSC_2223.jpeg
  • สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนสายพันธุ์เดลตาพลัส AY.1 ตรวจพบ 1 ราย ที่ จ.กำแพงเพชร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลที่บอกว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตาเดิม จึงไม่มีนัยสำคัญที่ต้องทบทวนการเปิดประเทศแต่อย่างใด และการที่เราเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวต่างชาติ

สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควร มีการซักซ้อมที่สนามบิน 2 ครั้ง เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการเข้าประเทศมีหลักๆ คือ กลุ่ม 45 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษ ที่เดินทางเข้ามาไม่ต้องกักตัว มีมาตรการรองรับ 4 เรื่อง คือ

1.ผู้เดินทางฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

2.ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง

3.ตรวจหาเชื้อซ้ำเมื่อมาถึงเข้าพักโรงแรมระหว่างรอผล 1 คืน หากผลเป็นลบสามารถเดินทางได้ทุกที่ในประเทศไทย

และ 4.การเดินทางจากสนามบินนานาชาติถึงโรงแรมเป็นระบบปิด (Sealed Root) โดยอยู่ห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง

ส่วนเด็กที่เดินทางมากับผู้ปกครองอาจยังไม่ได้รับวัคซีนต้องตรวจเชื้อ หากพบผลบวกจะได้นำเข้าสู่การรักษา เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดคนในประเทศ ส่วนกรณีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดจะมีการออกมาตรการรองรับ ซึ่งที่ผ่านมาเราติดตามควบคุมได้ดี เนื่องจากเดินทางโดยเครื่องบิน ที่ผ่านมาพบการติดเชื้อน้อย เมื่อพบติดเชื้อก็นำเข้าระบบการควบคุมรักษาได้ทันที

ส่วนกรณีข้อเสนอการเปิดประเทศรองรับประเทศเพื่อนบ้าน หากรับวัคซีนครบ ผลตรวจ ATK เป็นลบ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย 1 วัน เพื่อจับจ่ายใช้สอยก่อนกลับประเทศ อยู่ระหว่างการประชุมหารือเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปต่อไป ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต้องตรวจหาเชื้อโควิด โดยหลักการต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึง เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา AY.4.2 หรือ เดลต้า พลัส ที่ในประเทศอังกฤษพบการระบาดพอสมควร โดยเชื้อโควิดตัวนี้ มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง Y145H และ A222V ทำให้อำนาจในการแพร่โรคได้เร็ว กว่าเชื้อเดลตาเดิม 10-15% สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบแต่อย่างใด

นพ.ศุภกิจ ระบุด้วยว่า ได้รับการประสานงานข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ทหาร(AFRIMS) เมื่อเดือนกันยายน 2564 ได้ตรวจตัวอย่างใน จ.กำแพงเพชร จาก ผู้ป่วยชาย 1 ราย จาก จ.พระนครศรีอยุธยา มีการตรวจพบว่า เป็นเดลต้า พลัส ที่เป็น AY.1 ที่เกิดการกลายพันธุ์ที่ K417N

แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลในโลกว่า K417N จะเกิดอิทธิฤทธิ์อะไรกว่าเดลต้าเดิมอย่างไร แต่ทั้งหมดยังไม่ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าจะมีปัญหา แต่เรากลัวว่า K417N จริงๆ ก็พบในเบต้าเหมือนกัน ซึ่งเราต้องจับตาดู แต่เนื่องจากผู้ป่วยเข้าอยู่ใน รพ.สนาม และหายเป็นปกติออกไปแล้ว เพียงแต่เราต้องเก็บตัวอย่างผู้มีความเสี่ยงเพิ่มเติม

โดยสรุปขณะนี้ไทยพบ อัลฟา พลัส 18 ราย เดลต้า พลัส AY.1 เพียง 1 ราย ส่วนเดลต้า พลัส ที่เป็น AY.4.2 ยังไม่พบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบของเราได้ทำการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 450-500 ตัวอย่าง และส่งข้อมูลเข้าจีเสสภายใน 1 สัปดาห์ ขณะนี้ส่งไปแล้วกว่า 5,000 ตัวอย่าง ข้อมูลจึงเปิดเผยโปร่งใส เพื่อให้เห็นภาพรวมการกลายพันธุ์ของโลก