ไม่พบผลการค้นหา
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยทีมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา กรณีเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย

(14 ต.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ สน.ทองหล่อ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2563 จากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา กรณีที่สิตานัน ได้ไปร่วมชุมนุมเพื่อถ่ายทอดความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย ในการชุมนุม ณ แยกอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา

สิตานัน กล่าวว่า จากการชุมนุมในวันดังกล่าว ตนเพียงแค่ปราศรัยให้มีการผลักดันเรื่องของ ” พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ให้เป็นกฎหมายใช้ได้จริงเท่านั้น โดยยืนยันว่าไม่ได้มีการพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นแต่อย่างใด พร้อมเผยว่า หมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ไม่เคยส่งไปถึงตนเลย ทำให้ตนต้องมาติดตามเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองเพื่อไม่ให้มีการออกหมายจับตามมาหากว่าไม่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามที่ปรากฏในหมาย


แม้พูดความจริงก็ต้องโทษคดี

สิตานัน มองว่า การออกหมายเรียกในลักษณะนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกของตน ในฐานะผู้ที่ออกมาพูดถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เปลี่ยนสถานะตนจากผู้เสียหายให้กลายเป็นผู้ต้องหา ตนจึงอยากถามกลับว่า การยัดเยียดข้อกล่าวหาเช่นนี้ ถูกต้องแล้วหรือ

ด้าน ปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ในวันนี้คาดว่าจะเป็นการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยหลัก ส่วนในรายละเอียดของข้อกล่าวหาอื่นๆก็ต้องติดตามต่อไป ซึ่งการที่ สิตานัน ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อร้องขอให้รัฐหันมาดูแลและมอบความเป็นธรรมจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปนั้น


ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

รัฐควรใส่ใจในข้อเรียกร้องของสิตานัน และเร่งรัดให้มีการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรนำข้อกล่าวหาเช่นนี้มาล้มล้างสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิพลเมืองในเรื่องของการแสดงออก ดังนั้น วันนี้ก็จะให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และดำเนินการขอเวลาทางพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นแก้ไขข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง 

สำหรับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอย่าง สิตานัน ไม่ได้รับหมายเรียกตามที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ส่งไปถึงที่บ้านแล้วนั้น ก็จะทำการยื่นหนังสือไปถึงผู้กำกับสน. รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ทำการตรวจสอบเรื่องของการออกหมายเรียกเช่นนี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าไม่ควรมีการออกหมายเรียกโดยที่ไม่รู้ว่าหมายนั้นถูกส่งไปถึงผู้ถูกกล่าวหาแล้วหรือไม่ ถือเป็นการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขเชิงกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมด้วย