ไม่พบผลการค้นหา
ลขาธิการสามคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง สอบกรณี 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'เรียก 6 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ เข้าหารือ

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสามคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียก 6 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ เข้าหารือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 หรือไม่ แม้ว่าธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะออกมาระบุ ว่าเป็นการหารือกิจการบ้านเมืองธรรมดาทั่วไป แต่เชื่อว่าโซเชียลมีเดียและสังคมไทยไม่เชื่อ เพราะหลังจากการหารือดังกล่าวแล้ว ก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐมากมาย 

โดยเฉพาะเรื่องมีการปรับรื้อโครงสร้างของพรรค และยังจะมีการนัดประชุมเป็นการด่วนของกรรมการบริหารพรรคในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหารือกันของ 6 รัฐมนตรีกับนายกฯ ที่ผ่านมา  ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายบุคคลใดที่อาจมิใช่สมาชิกของพรรคการเมืองเข้าไปครอบงำ หรือชี้แนะ ชี้นำ การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองได้ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ในมาตรา 28 และมาตรา 29  ซึ่งมาตรา 28 ระบุเรื่องห้ามมิให้พรรคการเมืองใดให้บุคคลภายนอก ซึ่งมิใช่กรรมการบริหาร มิใช่สมาชิกเข้ามาชี้นำหรือครอบงำกิจกรรมทางการเมืองได้ 

ส่วนในมาตรา 29 ระบุชัดว่าห้ามมิให้บุคคลใด ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมทางการเมืองได้ ดังนั้นพฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐทั้ง 6 คนที่เข้าไปดำเนินการดังกล่าว เชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมภายในของพรรคพลังประชารัฐ จึงน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 และ29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยบทลงโทษความผิดในมาตรา 28 ที่หนักคืออาจจะเกี่ยวพันไปถึงมาตรา 92 (3) ซึ่งอาจเข้าข่ายการยุบพรรคได้ หาก กกต.วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 ก็สามารถจะสงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรคได้