ไม่พบผลการค้นหา
“กะลาแลนด์” กลายเป็นคำแสลงหู สำหรับคนจำนวนหนึ่ง แม้จะเป็นคำที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลาย อย่างน้อยก็หลังการรัฐประหารปี 2557

โดยปกติคำว่า “กะลาแลนด์” ให้ความหมายประมาณว่า ดินแดนๆ หนึ่งที่ถูกครอบงำด้วยอะไรบางอย่าง จนไม่ค่อยทันโลกกับเขา แต่สำหรับฉันนัยหนึ่งของคำว่า “กะลาแลนด์” อาจมีความหมายไปพ้องกับสำนวนไทยที่ว่า “กบในกะลา” ซึ่งถ้าค้นคำนี้ในเว็บไซต์พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานจะหาไม่เจอนะ ต้องค้นคำว่า “กบในกะลาครอบ” เอาซะเห็นภาพชัด หมายถึง “ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อยแต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก” เมื่อ “กะลา” ซึ่งผ่านการย่นย่อคำว่า “กบ” ไปแล้ว ได้มารวมกับคำว่า “แลนด์” (Land) ก็คงมีความหมายประมาณว่า ดินแดนอันเต็มไปด้วยผู้สำคัญตนด้านเชาว์ปัญญาผิดไปจากความเป็นจริง


กะลา-ไร้ค่า

ครั้งหนึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยมีหัตถเลขาทูล สมเด็จฯ กรมพระนริศฯ สันนิษฐานว่า “กะลา” น่าจะไม่ใช่ภาษาไทย และอาจเชื่อมโยงกับภาษามลายู โดยเทียบกับคำเรียก “ต้นมะพร้าว” ที่คนมลายูออกเสียงว่า “กล๋าป๋า” แต่ถึงกระนั้นเราก็ใช้คำว่า “กะลา” มาอย่างยาวนาน คร้านจะไปหาที่มาที่ไปให้เหนื่อย

โดยปกติกะลานั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนเหลือจากการบริโภคเนื้อ-น้ำมะพร้าว แต่ด้วยความแข็งแกร่ง ทนทาน กะลาก็ถูกนำมาใช้งานหลายอย่าง เช่น ถูกใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องดนตรีไทย ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัว

เรียกว่าในเชิงการใช้สอย “กะลา” เป็นของอรรถประโยชน์ แต่เนื่องจากหาได้มาก เกลื่อนกลาด และเป็นของธรรมดาสามัญสำหรับไพร่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไป กะลาเลยถูกให้ความหมายในเชิงเหยียดนิดๆ เช่น การเปรียบกะลาเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นไร้ไม้ตอก เป็นอุปกรณ์ของขอทาน หรือการเอาคำว่า “กะโหลก+กะลา” ก็จะได้ความหมายใหม่ หมายถึง “ไม่มีค่า” ยกตัวอย่างรูปประโยคเช่น “ถ้าฉันแก่ตัวลงไป ก็ขอให้แก่แบบมีคุณภาพเถอะ อย่าแก่แบบกะโหลกกะลาเลย สาธุ” เป็นต้น


กะลาคู่กับความสามัญ

อย่างที่บอกไปว่ากะลามักใช้ในหมู่ไพร่สามัญ ที่พบมากๆ ก็ใช้แทนชามข้าวนั่นแหละ ต่อมาสยามเรานำเข้าเครื่องถ้วยจีน หรือพ่อค้าจีนเอาติดเรือมาด้วย เป็นชามที่ไม่ได้วิจิตรบรรจงอะไรมากมาย เนื้อไม่ได้บางยิบแบบกังไส น้ำเคลือบและลวดลายก็ไม่ได้งามอะไรมาก อาจเขียนด้วยพู่กันหยาบๆ พอให้พื้นที่ชามไม่โล่ง เครื่องถ้วยเหล่านี้ขายกันราคาไม่แพง ชาวบ้านร้านตลาดก็เลยได้ใช้กันเยอะ ทุกวันนี้นักเล่นของเก่าก็ยังเรียกชามลักษณะนี้ว่า “ชามกะลา” หมายถึงชามที่ใช้กันในกลุ่มชาวบ้าน ไม่ใช่เครื่องกังไสลายครามหรูๆ ในบ้านผู้รากมากดี

75567403_478444992776240_611915123216351232_n.jpg

ตัวอย่างชามกะลา ลายชามแปลงมาจากลายโบราณเป็นอักษรเหลี่ยมๆ “ซังฮี้” แปลว่าโชคดีสองชั้น ชามกะลาใบนี้นำเข้าจากจีน อาจผลิตปลายราชวงซ์ชิงถึงราวต้นๆ ยุคสาธารณรัฐ สมัยก่อนหาซื้อได้กลาดเกลื่อนในร้านขายของเก่า เดี๋ยวนี้ใบสวยๆ เริ่มหาไม่ง่ายแล้วเหมือนกัน 


นี่เป็นนัยที่ “กะลา” หมายถึงความธรรมดาสามัญ แต่นั่นแหละความสามัญในบางครั้งก็ไม่มีใครต้องการ และบางกรณีคือการลงทัณฑ์ดีๆ นี่เอง เช่น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บอกว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการถาม “พระโหราธิบดี” ว่า สุริยุปราคาที่กรุงเทพมหานครจับกี่ส่วน ยังเหลืออีกกี่ส่วน พระโหราธิบดีและโหรมีชื่อกราบทูลไม่ถูก ทรงพระพิโรธให้ไปขัดหินที่วังสราญรมย์ 1 วัน จากนั้นจึง “ให้ทำทัณฑกรรมไว้ภายใต้ห้องอาลักษณ์ ลูกประคำหอยโข่งสวมคอ กินเข้าน้ำด้วยกะลากาบหมากเป็นภาชนะใส่กับเข้า อยู่ 8 วันจึงพ้นโทษ”

แปลง่ายๆ ว่า ให้กินข้าวกินน้ำด้วยกะลาและกาบหมาก กะลาก็คงไม่ได้ทำให้พระโหราฯ เจ็บปวดร่างกายอะไร แต่การไม่ให้ใช้ภาชนะอย่างปกติ ให้ใช้ของอย่างสามัญ ถือว่าเป็นการลงโทษโดยอาศัยความหมายของ “กะลา” จะว่าอย่างนั้นก็ได้

หรือหากอยากทำร้ายใครให้ได้เจ็บและอายกันสุดๆ ในวรรณคดีบ้านเราก็กล่าวถึง “กะลา” เอาไว้เหมือนกัน เช่น นางคันธมาลี ก็จะทำร้ายยายเฒ่าทัศประสาท ด้วยการ “จะตีให้บัดซบตบด้วยกะลา” หรือ “พระลักษณวงศ์” ไปปราบนางยักษ์ที่เมืองพาราณสี เมื่อจับนางยักษ์ได้ก็เดือดมากสั่งตบด้วยกะลาเหมือนกัน

“กระทืบบาทสิงหนาทอยู่ฉาดฉาน      มึงอีมารแก่แรดแพศยา

เหวยมนตรีตีตบด้วยกะลา    เอาเลือดมาล้างตีนอีสิ้นอาย”

โดยสรุปแล้ว “กะลา” หากเป็นสิ่งของก็ให้คุณ แต่ถ้าเป็นคำค่อนแคะ ก็ออกจะ “แรง” อยู่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยู่ที่ผู้ฟังด้วยว่า “อิน” กับคำนี้มากขนาดไหน และมองเห็นภาพสะท้อนอะไรจากคำนี้บ้าง

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog