ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระเบียบบ้าน เผยต้นเหตุบ้านรกและพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง พร้อมแนะนำหนทางแก้ปัญหากวนใจ ที่กระทบกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ชายหนุ่มถูกทำให้เคยชินกับบ้านเล็กเท่ารูหนู ข้าวของเครื่องใช้ระเกะระกะ ข่มตาหลับในห้องนอนเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยเสื้อผ้า พยายามรักษาความสะอาดท่ามกลางฝุ่นละออง และเเม้จะพยายามเปลี่ยนแปลง เสียงของพ่อหรือแม่จะพุ่งแหวกอากาศตรงเข้ามาทันทีว่า "ใครเอาไอ้นี่ฉันไปทิ้ง"

ด้านบนคือตัวอย่างสมมติที่ใกล้เคียงกับชีวิตความเป็นอยู่ของใครหลายคน ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุที่หวงข้าวของเป็นที่สุด  

แต่ทุกปัญหามีทางออกเสมอ พล - คธาพล รพีฐิติธรรม ที่ปรึกษาการจัดระเบียบบ้าน พร้อมแล้วที่จะพาเราไปแก้ไขปัญหาชวนปวดหัวนี้


ทำไมคน(แก่)ไม่กล้าทิ้ง

คธาพล ที่เป็นเจ้าของแฟนเพจ Proud จัดระเบียบเปลี่ยนชีวิต บอกว่า 2 เหตุผลสำคัญที่คนเราหวงข้าวของและตัดใจทิ้งไม่ลง คือ

1.ความกลัว : กลัวว่าตัวเองไม่ดีพอ เก่งไม่พอ ฉลาดไม่พอ เลยไม่กล้าทิ้งสิ่งที่คิดว่าปกปิดความกลัวหรือคิดว่าเอาชนะความกลัวเหล่านั้นได้

2.ความปรารถนาและความต้องการ : อยากโดดเด่น ไม่ขาดตกบกพร่องจากความนิยมของกลุ่ม หากไม่มีจะรู้สึกผิดหวังและไม่ดีพอ 

“ความต้องการมีหลายระดับ บางคนต้องการความมั่นคง บางคนมีหนังสือเยอะๆ แล้วมั่นใจว่า ฉันจะสอบผ่าน ฉันฉลาด มีเสื้อผ้าเยอะแล้วฉันพร้อมที่จะออกงานไหนก็ได้ ถ้าน้อยไปฉันไม่มั่นใจ” เขาบอกต่อ “ความกลัวและความต้องการไม่เกี่ยวข้องกับวัย เป็นได้ตั้งแต่เด็กวัยเรียน วัยทำงาน มีครอบครัวแล้ว กระทั่งวัยชรา”

จัดบ้านยังไงไม่ให้คนแก่ด่า

จากประสบการณ์ของ ‘คธาพล’ พบว่ามีอยู่ 3 พฤติกรรมด้วยกันที่นำไปสู่ความรกรุงรัง

1.ซื้อไม่เป็น ควบคุมความต้องการไม่ได้ เห็นป้ายเซลลดราคาแล้วพุ่งเข้าหาทันที โดยไม่ได้ถามความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง จ่ายเงินออกไปเพียงเพราะคำว่าลดราคาหรือราคาถูก

2.เก็บไม่เป็น มีเสื้อผ้าแต่ไม่รู้จะแขวนยังไง พับเก็บไม่เป็น ซื้อหนังสือมาเป็นร้อยๆ เล่มไม่รู้จะวางไว้ตรงไหน เช่น เอาไปกองไว้ในห้องน้ำหรือห้องครัว

3.ทิ้งไม่เป็น ปล่อยวางไม่ได้ ของเก่าชำรุดแล้วยังทนใช้ บางคนภูมิใจด้วยว่าฉันประหยัด หรือเก็บไว้เผื่อใช้ในอนาคต 


จัดบ้านยังไงไม่ให้โดนด่า

Declutter Coach บอกว่า กฎข้อแรกของการจัดบ้าน คือ อย่าไปยุ่งกับของๆ คนอื่น และพยายามโฟกัสกับของตัวเองก่อน อย่างไรก็ตามหากต้องอยู่อาศัยร่วมกับครอบครัวหรือพ่อแม่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านรก ให้เริ่มต้นดังนี้

1.แยกโซนนิ่ง แบ่งพื้นที่ของแต่ละคน เช่น ตู้เสื้อผ้านี้เป็นของเรา ตู้นี้เป็นของคุณพ่อ ตู้นี้เป็นของคุณแม่ เพื่อไม่ให้ปะปนกันและกัน

2.ชวนกันประเมินปริมาณของใช้และความจำเป็นที่แท้จริงเพื่อนำไปสู่การพินิจและตระหนัก 

“อย่างแม่ผมมีถุง 100 ใบแต่รู้สึกยังไม่พอ วันหนึ่งผมชวนแม่มานั่งนับ เอาถุงทั้งบ้านมาเทรวมกัน ตอนนี้เรามีอยู่ไม่ต่ำกว่า 100 ใบแน่นอน ตอนนั้นเขาจะทิ้งหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราได้ทำให้เขาได้ตระหนักแล้วว่า ที่บอกว่าไม่พอนั่นมันไม่พอจริงๆ หรือเปล่า”

3.อย่าใส่อารมณ์เชิงลบกับความรู้สึกของคนอื่น–เข้าใจความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชัน 

เมื่อสิ่งของบางอย่างเกี่ยวพันกับความรู้สึกและความผูกพันของแต่ละคน เพราะฉะนั้นอย่าฉุนเฉียวกับอีกฝ่ายเด็ดขาด 

“คนแก่บางคนทิ้งถุงพลาสติกไม่ได้เลย จริงๆ เขาไม่ได้ผูกพันกับถุงพลาสติกโดยตรง แต่อาจมีปมในวัยเด็ก ที่เป็นเรื่องของเจนฯ รุ่นพ่อแม่ของเรา เป็นรุ่นที่โตมากับความขาดแคลน ข้าวของไม่พอ ต้องสะสมมาตลอด หลายๆ บ้านมีกระป๋องนมเหล็กเต็มไปหมด ล้างแล้วล้างอีก 

“ขณะที่คนรุ่นเรา เติบโตมาเพรียบพร้อมไปกับความสะดวกสบายสามารถเสาะหาสิ่งของต่างๆ ได้ไม่ยาก ไม่มีปัญหาเรื่องสรรหา แต่มีปัญหาเรื่องการจัดวาง ส่วนเด็กๆ รุ่นต่อไป ด้วยความที่พ่อแม่หาสิ่งของจำเป็นมาให้หมดแล้ว ปัญหาของเขาคืออาจไม่รู้ว่าลึกๆ แล้วต้องการอะไร เพราะฉะนั้นด้วยประสบการณ์ ทำให้เรามองข้าวของแตกต่างกัน” เขาอธิบายอย่างช่ำชอง

อัปเดตล่าสุด6.jpg
  • ภาพจากเว็บไซต์พันทิป หัวข้อกระทู้่ "รีวิวบ้านตัวเองในยุคโควิด" โดยสมาชิกหมายเลข 5378702

โตไปไม่รก ถามตัวเองบ่อยๆ “จำเป็นไหม”

ไม่อยากให้บ้านรกรุกรัง ขนาดพื้นที่และความสุขในบ้านหดตัว ให้ทบทวนตัวเองบ่อยๆ

โค้ชด้านการจัดระเบียบบ้าน แนะนำว่า หาความต้องการของตัวเองให้เจอ ลึกๆ เราต้องอะไรในแต่ละช่วงวัย เช่น เสื้อผ้า หนังสือ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ

หลายคนไม่เคยจัดระเบียบเสื้อผ้ามาก่อน ไม่เคยสังเกตว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเด็กมีแค่ชุดนักเรียน 4-5 ชุด เสื้อผ้าที่ไว้ใส่ไปกับพ่อแม่ ไปกับพื่อน เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เริ่มมีชุดทำงาน ชุดท่องเที่ยว และบางคนมีชุดออกเดท จะเห็นได้ว่าข้าวของถูกเพิ่มเติมในแต่ละช่วงวัย ซึ่งมีความต้องการและความจำเป็นที่แตกต่างกัน

“เราต้องยอมรับว่าเสื้อผ้าและข้าวของบางอย่างเหมาะสมกับเราในวัยใดวันหนึ่งเท่านั้น เช่น ตอนนี้ทำงานแล้ว กางเกงที่เก็บไว้ตั้งแต่มหา’ลัยอาจไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ต่อให้มันเป็นกางเกงสแลคสีดำเหมือนกัน 

“เราต้องทบทวน ทำการบ้านกับตัวเองเยอะๆ ของชิ้นนี้ เราไม่ยอมทิ้งมันเพราะอะไร เช่น ตำราเรียน กลัวว่าเดี๋ยวต่อไปทำงานจะลำบาก กลัวคนอื่นหาว่าโง่ ความรู้น้อย ถ้าคิดแบบนี้เราควรปล่อยทิ้งไปเพราะเราไม่ได้เก็บเพราะมีความสุข แต่เก็บเพราะความกลัว” 

เช่นกันกับเสื้อผ้า ถ้าคว้ามาเพียงเพราะติดกับดัก “ลดราคา” ไม่ใช่เพราะเหมาะกับตัวเอง ให้คิดดีๆ ว่าควรจะเก็บหรือทิ้ง

“ถามตัวเองบ่อยๆ ว่าเรามีไว้ทำไม หรือแค่ของมันต้องมี ? ” เขาเน้นเสียง

ภาพบ้านรก Messy room จาก unsplash

คธาพล แนะนำเทคนิคง่ายๆ ว่า 'ถามใจตัวเองปีละครั้ง' จำเป็นต้องใช้ของประเภทนี้มากน้อยแค่ไหน เช่น ปีนี้ฉันต้องการใส่เสื้อผ้ากี่ตัว รองเท้ากี่คู่ ถ้าเพียงแค่ 5-6 คู่ ที่เหลือในตู้ 15 คู่ควรโละทิ้งไหม

“โจทย์โหดๆ สำหรับหลายคนคือ คำว่าเผื่อวันหน้าจะได้ใช้ แต่จากประสบการณ์ตัวเองและที่ผมเห็นมา ไอ้ของที่มีเผื่อส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้

“แนะนำให้ลองทิ้งดูครับและถ้าอนาคตมันต้องใช้ ให้เชื่อมั่นตัวเองว่า หนึ่ง เราสามารถหาของอย่างอื่นมาแทนได้ สอง เราสามารถจัดการปัญหาได้ โดยไม่ต้องใช้ของชิ้นนั้นเลย” 

ในอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระเบียบบ้านรายนี้เคยผ่านประสบการณ์นั่งคุยกับกางเกงยีนส์ที่ตัวเองรักเป็นชั่วโมง ก่อนจะตัดสินใจบอกลามันไปตลอดกาล 

“ของที่ทิ้งยากสุดคือของที่อิงกับความทรงจำหรือผูกพันกับประสบการณ์ กางเกงที่ใส่ในสมัยเรียน ตั้งแต่ปี 1 จนทำงาน รวมๆ แล้วเป็น 10 ปี ผมไม่กล้าทิ้งมันเพราะมันอยู่กับเรามานาน เราดูแลมันดีมาก รู้สึกเป็นสัญลักษณ์ของแห่งความภาคภูมิใจ ทั้งๆ ที่สภาพมันโทรมสุดๆ และหลายคนบอกว่าทิ้งได้แล้ว

“ผมนั่งคุยกับตัวเองเป็นชั่วโมง เหมือนคนบ้านั่งคุยกับกางเกง ทิ้งไม่ทิ้งดี จนพอทิ้งได้เสร็จเหมือนเราได้เอาอดีตที่ดีและไม่ดีปล่อยไปกับมัน และรู้สึกว่าเราควรอยู่กับรูปร่างที่ดี กางเกงที่ใส่แล้วเหมาะสมกับวัยสิ พวกนั้นจะสำคัญกว่า” 

จัดบ้านยังไงไม่ให้คนแก่ด่า

จัดบ้านแล้วได้อะไร

ผลลัพธ์จากการจัดบ้านไม่ใช่เรื่องนามธรรมหรือภาวะลมๆ แล้งๆ แต่ช่วยสนับสนุนสุขภาวะองค์รวม 4 ด้านได้อย่างเป็นรูปธรรม 

1.สุขภาพทางกาย เมื่อจำนวนข้าวของเครื่องใช้ลดน้อยลง จัดสรรเป็นระเบียบเรียบร้อย ฝุ่นละอองรวมถึงแมลงและสัตว์ก็ลดลงไปด้วย

2.สุขภาพจิต หลายคนกลับถึงบ้าน เจอข้าวของรกรุกรังก็เกิดความเครียดแล้ว ขณะที่งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า โต๊ะทำงานโล่งสามารถช่วยลดความเครียดได้

3.ความสัมพันธ์ เมื่อแต่ละคนในครอบครัวจัดเก็บสิ่งของอย่างเป็นระเบียบ โอกาสในการกระทบกระทั่งหรือไม่พอใจกันและกันก็ลดน้อยลง

4.การพัฒนาตนเอง กล้าที่จะปล่อยวางและเผชิญหน้ากับปัจจุบัน ไม่หวาดกลัวอนาคต มีสมาธิและละเอียดในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น 

“ชายคนหนึ่งหลังจากตัดสินใจทิ้งของขวัญจากแฟนเก่าไป เขาเล่าว่า เฮ้ย..รู้สึกได้ให้อภัยตัวเอง กล้าปล่อยวางและอยากเริ่มต้นรักครั้งใหม่” คธาพล ยกตัวอย่างความสำเร็จ

ก่อนจะมาเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดระเบียบบ้าน คธาพล เคยเป็นพวกบ้านรก ไม่ชอบพับผ้า เก็บหนังสือกองเป็นภูเขา จนกระทั่งเริ่มตั้งคำถามว่า “เราจะเก็บมันไว้อีกกี่ปี” กอรปกับได้อ่านหนังสือเล่มดังระดับโลก “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ของ คนโด มาริเอะ กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

"ผมเชื่อว่าการจัดระเบียบบ้านมีประโยชน์มากกว่าแค่ทำให้บ้านหายรก แต่มันคือ การ ‘สร้างตัวตนใหม่ในคนคนเดิม’ ให้กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง ไม่ยึดติดกับอดีต ไม่หวาดกลัวอนาคต และกล้าที่จะก้าวมาอยู่กับปัจจุบัน"

ภาพบ้านรก Messy room จาก unsplash



วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog