ไม่พบผลการค้นหา
คมนาคม เผย ลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน 24 .ต.ค.นี้ ด้าน กพอ. ตั้งคณะทำงานเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ออกเป็น 3 เฟส ขณะที่บอร์ดรถไฟ คาดออกออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี ชี้ไม่มีโอกาสที่กลุ่มซีพีจะบอกเลิกสัญญาได้ แม้กฎหมายเปิดช่องให้ ยันรัฐจะจ่ายเงินค่าอุดหนุนตาม RFP

ความชัดเจนล่าสุดของโครงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนเฟสแรกของระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ระยะทางทั้งสิ้น 220 กิโลเมตร จะเริ่มลงนามสัญญาในวันพฤหัสบดี ที่ 24 ต.ค. 2562 โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงนามระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) จะเกิดขึ้นในเวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นเป็นสักขีพยาน ซึ่งการลงนามสัญญาครั้งนี้ถือว่าเลื่อนเร็วขึ้น 1 วัน จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 25 ต.ค.นี้ หลังกลุ่มซีพีมีความพร้อมแล้ว


ศักดิ์สยาม ศูนย์ GPS
  • นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

“โครงการนี้จะมีการลงนามเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าได้เริ่มโครงการชัดเจน ส่วนการส่งมอบพื้นที่ปลัดกระทรวงคมนาคมนั่งเป็นคณะทำงานฯ จะเร่งรัดให้มีความชัดเจนมากที่สุดและต้องใช้หลักธรรมาภิบาลตามกฎหมาย โดยทั้งหมดยืนยันว่ายึดตาม RFP ที่กำหนด และเพื่อความโปร่งใสในสัญญาและเอกสารแนบท้ายโครงการทั้งหมดจะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบภายหลังจากลงนาม” นายศักดิ์สยาม กล่าว

กพอ. อนุมัติแผนส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ออกเป็น 3 เฟส

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 10/2562 ได้อนุมัติแผนส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารฯ เป็นผู้เสนอ โดยได้มีการกำหนดแผนการส่งมอบพื้นที่ ออกเป็น 3 ช่วง คือ สถานีพญาไท-สุวรรภูมิ ระยะทาง 28 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ก่อน ส่วนช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. จะเร่งส่งมอบพื้นที่ 1 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปี หลังลงนาม ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท 22 กม. จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภค โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน


EEC MOU มหานครการบินเจิ้งโจว-คณิศ แสงสุพรรณ
  • นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการคาดว่าจะชัดเจนภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยหากเป็นไปตามแผนจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินช่วงแรก คือ สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้ไม่เกินปี 2567 และช่วงสถานีดอนเมือง-พญาไท ได้ไม่เกินปี 2568

“นี่ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีแผนส่งมอบที่ดิน ระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาให้เอกชนไปเจรจากับหน่วยงานโดยตรงได้บ้างไม่ได้บ้าง ยืนยันส่องมอบพื้นที่ได้แน่ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะไม่เป็นปัญหา หรือเป็นเหตุให้เอกชนบอกเลิกสัญญา เพราะสามารถขยายเวลาได้ และไม่จำเป็นต้องให้เงินชดเชยเ เพราะตาม RFP เงื่อนไขชัดเจนว่าการลงทุนในโครงการนี้มีความเสี่ยง ” นายคณิศ กล่าว

บอร์ดรถไฟ ยันกลุ่มซีพีรับแผนการส่งมอบพื้นที่ตามที่ กพอ. อนุมัติ ชี้ ไม่มีโอกาสที่กลุ่มซีพีจะบอกเลิกสัญญาได้ แม้กฎหมายเปิดช่อง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า แผนการส่งมอบพื้นที่จะเป็นไปตามที่ กพอ. อนุมัติล่าสุด คือ แบ่งเป็น 3 ช่วง คาดว่าในเดือน พ.ย.นี้จะมีความชัดเจนและสามารถเริ่มเข้าพื้นที่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่มีปัญหากับกลุ่มซีพีแล้วเท่าที่เจรจากันมา โดยจากหลังลงนามในสัญญา การรถไฟฯ จะออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี แต่สามารถขยายเวลาได้ถึง 2 ปี ซึ่งยืนยันว่าจะไม่เกิดการยกเลิกสัญญาในโครงการนี้อย่างแน่นอน


วรวุฒิ มาลา-รฟท
  • นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

“หากส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ทัน ในกรณีที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น มีการประท้วง สามารถต่อเวลาให้กับเอกชนได้เท่าที่เสียไปจริง ซึ่งในทางกฎหมายแม้จะเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากจะเกิดขึ้นได้ คือ กรณีที่ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย” นายวรวุฒิ กล่าว


ส่วนประเด็นการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มซีพีที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าทางการรถไฟฯ จะไม่ยึดแนวทางตามสัญญา เรื่องนี้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตาม Request for Proposal (RFP) ที่เป็นสัญญาผู้จ้างกับผู้รับจ้างมีการระบุเอาไว้ ซึ่งจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนเกิดขึ้นก็คือตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปต่อเนื่อง 10 ปีในสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยนับจากวันที่ออก NTP ให้กับเอกชนไปแล้วเท่านั้น

แม้ว่าโครงการมูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาทโครงการนี้ จะมีเริ่มมีความชัดเจนให้เห็น หลังใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการกินเวลาไปแล้วเกือบ 2 ปี แต่ความเป็นห่วงที่หลายฝ่ายอยากเห็น คือ รายละเอียดสัญญาของโครงการนี้ระบุตามที่ RFP หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันจากปากเท่านั้น ท้ายที่สุดโครงการนี้จะไปได้ถึงฝันหรือไม่นั่น ยังคงต้องติดตามกันต่อไป