ไม่พบผลการค้นหา
ทำไมวงจรอาชญากรรมด้วยการซ้อมทรมาน-อุ้มหายถึงไม่เคยยุติ และจะยุติได้อย่างไร !?!

1. คลิปคลุมถุงพลาสติกทรมานผู้ต้องหายาเสพติดที่ สภ.เมืองนครสวรรค์จนขาดอากาศตาย ไม่เพียงแต่ยืนยันถึงอาชญากรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อ แต่ภาพดังกล่าวยังช่วยตอกย้ำว่าเรื่องเล่าในหลายคดีที่อำนาจรัฐพยายามปฏิเสธความรับผิดชอบเสมอมาเป็นเรื่องจริง

2. เป็นเรื่องจริงเพราะภาพสะกิดให้เหยื่อที่รอดชีวิตจากการถูกกระทำดังกล่าวมา พูดเหมือนกันว่า “กลิ่นถุงพลาสติกลอยมาเลย” หลังจากที่เหยื่อเคสอื่นๆ ได้เห็นคลิปดังกล่าว แล้วเหมือนเห็นตัวเองเคยพยายามดิ้นรนระหว่างขาดอากาศหายใจ พวกเขาเหล่านี้คือผู้รอดพ้นจากการซ้อมทรมาน

3. มากกว่านั้น หลายคนที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมา ยังมีอาการ “ตัวสั่น” “หวาดกลัว” “เข้าสังคมไม่ได้” “ขาดความมั่นใจ” แม้จะเป็นประสบการณ์ในอดีต แต่ภาวะการถูกซ้อมทรมานได้สร้างภาวะ “ทรอม่า” บาดแผลทางใจขึ้น เมื่อที่ผ่านมาภาครัฐไม่ยอมรับความจริง การเยียวยาจึงไม่เกิดขึ้น

4. กว่า 15 ปี ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเก็บข้อมูลการซ้อมทรมาน พบว่า ส่วนมากการซ้อมทรมานเกิดขึ้นกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ถูกบังคับให้สารภาพหรือขูดรีดเงิน กรรโชกทรัพย์เพื่อการรีบปิดคดีและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศชาติ 

5. นอกจากคดียาเสพติด รองลงมาเป็นคดีความมั่นคงทางการเมือง ที่รัฐบาลมีท่าทีไล่ล่าปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่มีการร้องเรียนการถูกซ้อมทรมานหลายกรณี ทั้งนี้ไม่เพียงพลเรือนเท่านั้น แม้แต่กรณีเจ้าหน้าที่รัฐอย่าง “พลทหารวิเชียร เผือกสม” ก็ยังถูกซ้อมในค่ายทหารจนตายเช่นกัน

6. โจทย์คือทำไมผู้ต้องหาคดีดังกล่าวถึงเป็นเป้าในการถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่ายิ่งเมื่อสังคมมองว่าผู้ต้องหาทั้งคดียาเสพติดและคดีความมั่นคงไม่ใช่ “คนดี” ถ้าคนเหล่านี้ถูกจัดการได้จะทำให้สังคมดีขึ้น ก็ยิ่งทำให้รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ง่ายขึ้น โดยไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว

7. นอกจากเหยื่อซ้อมทรมานแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถรอดพ้นการซ้อมทรมานไปได้ ย่อมนำไปสู้การบังคับสูญหาย หรือที่เรียกกันว่า “อุ้มหาย” ในรายงานของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2523-2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายเท่าที่ได้รับรายงานมากถึง 86 คน

8. นับเฉพาะตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีรายงานว่ามีประชาชนและนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองไทยถูกทำให้กลายเป็น ‘ผู้สูญหาย’ มากถึง 11 คน โดย 9 คนเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง หลังถูก คสช. เรียกรายงานไปตัวต่อ คสช. กระทั่งถูกตั้งข้อหา ม.112 ตามหลังด้วย

9. ผู้ลี้ภัยการเมือง 9 คน ที่ถูกบังคับสูญหายหลังรัฐปประหาร 57 ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, ไกรเดช ลือเลิศ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย, สยาม ธีรวุฒิ, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนชาวบ้านอีก 2 คน ที่ถูกบังคับสูญหายภายในประเทศไทยคือ เด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อที่ดิน ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และ ฟาเดล เสาะหมาน ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

10. หลังกรณี “ตำรวจนครสวรรค์” สร้างความสะเทือนใจต่อสังคม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ออกมาพูดสำนวนว่า “นิ้วไหนไม่ดีก็ต้องตัดทิ้ง” แถมยังย้ำอีกว่า “ไม่เคยที่ตำรวจกระทำผิดแล้วพ้นโทษ หรือถ้าทำอะไรไม่ดี ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ” สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของนักเรียน ม.6 ที่ถูกซ้อมทรมานจากตำรวจในปี 2563 ออกมาระบุผ่านโซเชียลว่าได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง ผบ.ตร.มาแล้ว 17 ครั้ง แต่เรื่องยังเงียบ เนื่องจากลูกชายถูกบังคับให้เป็นแพะรับสารภาพในดคีวิ่งราวทรัพย์

11. อังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม. และภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อปี 2547 ระบุว่า “คนที่อุ้มฆ่าสมชายไม่ใช่แค่คนหรือกลุ่มคน หากแต่มันคือระบบโครงสร้างอำนาจที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงต่อทุกคนที่ลุกขึ้นมาท้าทาย เราอาจต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่มีความมั่นคงปลอดภัย เราอาจต้องสูญเสียญาติพี่น้องหรือมิตรสหายที่มิอาจทนต่อความหวาดกลัวและอำนาจที่มองไม่เห็นได้”

12. อังคณา ระบุอีกว่า “สังคมที่เราอาศัยอยู่จะหนักแน่นอดทนกับความจริงที่เกิดขึ้นจะโอบกอดผู้ถูกกดขี่ และจะก้าวทันรูปแบบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องไม่มีไว้เพื่อข่มเหงคุกคามผู้ยากไร้และผู้เห็นต่าง กระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่ยอมนิ่งเฉยให้คนดีถูกข่มเหงรังแกโดยผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลเหมือนเช่นที่ผ่านมา”

13. ตามสำนวน “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” วันนี้ผู้มีอำนาจเริ่มตื่นตัวกับกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปัจจุบันกำลังจะได้รับการพิจารณาด่วนจากรัฐสภา ทั้งที่ไทยเคยให้สัตยาบันต่อต้านการทรมานกับยูเอ็นไว้ตั้งแต่ 2550 และมาลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ตั้งแต่ 2555 ผ่านมาร่วมทศวรรษ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจะยุติได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับใคร


อ้างอิง 

ร่างกฎหมาย

ข้อร้องเรียนจากพ่อเหยื่อซ้อมทรมาน

บันทึกของอังคณา นีละไพจิตร


ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog