ไม่พบผลการค้นหา
‘ชยิกา’ ระบุใน 11 ปีสลายชุมนุมคนเสื้อแดง ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ ยกพยานหลักฐานชัดแต่ยังจับตัวคนผิดไม่ได้ ชายชุดดำยังพิสูจน์ไม่ได้มีจริง ร่วมรำลึกคืนความจริงให้เหตุการณ์สูญเสียของคนเสื้อแดง

วันที่ 19 พ.ค. 2564 ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตนายทะเบียนสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ระบุว่า วันนี้ครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 2553 วันนั้นมีการใช้ ‘กระสุนจริง’ ยิงประชาชนระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-พ.ค. โดยวันที่ 19 พ.ค. เป็นวัน ‘สิ้นเสียงปืน’ ก่อนพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 1,500 ราย ตนขอใช้โอกาสนี้ นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ใครเป็นผู้สั่งการ ใครเป็นผู้รับคำสั่ง และใครต้องเป็นฝ่ายสูญเสีย 

การสลายการชุมนุมดังกล่าวเพราะรัฐบาลในตอนนั้นไม่ ‘ยุบสภา’ ตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ พร้อมใช้วาทกรรมสวยหรู ‘ขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่’ โดยมีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งมี ‘บิ๊กเหล่าทัพ’ ร่วมเป็นหนึ่งในโครงสร้าง ศอฉ. ด้วย พวกเขาได้นำกำลังพลกองทัพจากภาษีประชาชน เข้าปราบปรามสลายการชุมนุม

ไม่แน่ชัดว่าตัวเลข 99 ศพมาจากที่ใด แต่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้อย่างน้อย 2 แหล่ง คือ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) กรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 94 ราย ขณะที่รายงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลในขณะนั้นระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 92 ราย

ใครเป็นเจ้าของกระสุนฝังร่างคนเสื้อแดง?

ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว ระหว่างปี 2555-2558 จำนวน 33 ราย (อ้างอิงจากเว็บไซต์สำนักข่าวประชาไท) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 150 โดยระบุว่า มีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร 18 ราย ส่วนอีก 15 ราย ศาลระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ขั้นตอนการไต่สวนการตายภายในชั้นศาลเหมือนจะหยุดชะงักลง และไม่มีการไต่สวนดังกล่าวอีก แม้ยังเหลือรายชื่อผู้เสียชีวิตอีกกว่า 60 ราย?

ศาลสรุปว่ากระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ แต่ยังเอาผิดใครไม่ได้?

ในส่วนการเอาผิดกับรัฐบาล ศอฉ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อปี 2555 ต่อมาสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องศาล แต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา พิพากษาว่าให้ยกฟ้องคดีกล่าวหาหัวหน้ารัฐบาล ประธาน ศอฉ. ในขณะนั้น รวมถึง ผบ.ทบ.ขณะเกิดเหตุ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนกรณีดังกล่าวไปด้วย กระทั่งปลายปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกฟ้องข้อกล่าวหาข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า รับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายกับพวกละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายกับประชาชน หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล 

ป.ป.ช. อ้างอีกว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าวจนมีผู้เสียชีวิตเฉียด 100 ศพนั้น เป็นไปตาม ‘มาตรฐานสากล’ แม้ว่ามีความพยายามอุทธรณ์คำวินิจฉัย ป.ป.ช. แต่เมื่อปี 2561 ป.ป.ช.ยังยืนยันคำวินิจฉัยเดิม และไม่รื้อคดีดังกล่าวมาพิจารณาใหม่แต่อย่างใด

เสื้อแดงไม่ได้เผา เขาไม่ใช่คนล้มเจ้า

อีกประเด็นที่น่าสนใจในช่วงปี 2553 มีความพยายามจาก ศอฉ. อ้างถึง ‘ผังล้มเจ้า’ โดยโยงใยแกนนำ นปช. กับนักการเมืองซีกสีแดง และพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายเจ้าตัว (โฆษก ศอฉ.) ยอมรับต่อศาลเองว่า แผนผังล้มเจ้าดังกล่าวเป็นการแต่งขึ้น

ส่วนกรณีการเผาห้างสรรพสินค้ากลางเมืองหลวงนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาสรุปได้ว่า ไม่ใช่เกิดจากฝีมือของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่อย่างไร แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ปิดบังใบหน้าหวังผลให้เกิดความเสียหาย และการก่อเหตุเผาห้างดังกล่าวเป็นช่วงหลังจากสลายชุมนุมเสร็จสิ้น และทหารเข้าควบคุมพื้นที่ไว้ทั้งหมดแล้ว

ขณะที่กรณีการอ้างว่ามี ‘ชายชุดดำ’ แฝงตัวอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน โดยเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอจะบ่งชี้ได้ว่า คนเสื้อแดงที่ถูกจับเป็นชายชุดดำจริง ขณะที่ชายชุดดำตัวจริงมีอยู่หรือไม่ ทำไมเหตุการณ์ผ่านไปถึง 11 ปีแล้วถึงจับตัวไม่ได้ เรื่องนี้แล้วแต่ดุลพินิจของแต่ละบุคคล?

นี่ยังไม่นับข้อมูลจาก ศปช. ที่พบว่า ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด ก่อนส่งคืนให้กรมสรรพาวุธในภายหลัง 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไป 117,923 นัด และเบิกกระสุนสำหรับซุ่มยิง 3,000 นัด คืน 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด ขณะที่ รองนายกฯ ในขณะนั้นตอบกระทู้ในสภาเมื่อปี 2555 ระบุว่า ในการสลายการชุมนุมปี 2553 กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกงบประมาณใช้ในการปราบปรามการชุมนุมระหว่าง 16 ก.พ.-15 ก.ค. 2553 รวมกว่า 2,932,764,418 บาท

จึงขอตั้งคำถามว่าทั้งๆที่มีข้อเท็จจริง พยานหลักฐานชัดเจนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง แต่เหตุใดกฎหมายจึงไม่สามารถถูกบังคับใช้เอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ 

"ดิฉันจึงอยากขอใช้พื้นที่นี้ในการ #คืนความจริง ให้กับการสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53 ให้ทุกคนได้รับรู้และร่วมรำลึกถึงการยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของพวกเขาเหล่านั้นด้วย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง