ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - วัฒนธรรมบ้างานในสิงคโปร์ ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตครอบครัว - Short Clip
Dec 26, 2018 16:35

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่มีเวลาดูแลพ่อแม่และครอบครัวน้อยลง เนื่องจากยังคงต้องทำงานหนักและมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน

สำนักข่าว Channel News Asia รายงานว่า ในระยะเวลาหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาจนถึงรุ่นพ่อแม่ สิ่งที่ชาวสิงคโปร์สอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น คือหลักการที่ว่า 'ให้ตั้งใจเรียนและทำงานหนัก' เนื่องจากวิถีชีวิตของคนยุคเก่าซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิก ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากการก่อร่างสร้างตัว ซึ่งเป็นวิถีการเอาตัวรอดแบบดั้งเดิม เพื่อการสร้างครอบครัวและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากชาวต่างชาติให้เข้ามาสร้างธุรกิจในสิงคโปร์มากขึ้น ความคิดในเรื่องของการทำงานหนักเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีจึงถูกฝังลึกลงไปในวัฒนธรรมของชาวสิงคโปร์อย่างเห็นได้ชัด แม้ทางกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์จะรายงานว่าในปัจจุบัน ชั่วโมงการทำงานของชาวสิงคโปร์ในแต่ละวันมีค่าเฉลี่ยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2010 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานของประชากรโลก สิงคโปร์ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและหนักที่สุดอยู่ดี 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงานอันยาวนานของชาวสิงคโปร์ มีความเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมและประชากรที่กำลังเปลี่ยนไป นั่นก็คือ การที่สิงคโปร์กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว จะเห็นได้จากบรรดาพ่อแม่ของกลุ่มคนวัยทำงานในขณะนี้ ที่ล้วนแต่กำลังจะเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปี กันหมดแล้ว และการที่กลุ่มคนวัยทำงานเหล่านี้ต้องเผชิญกับชั่วโมงการทำงานที่หนักและยาวนาน จะส่งผลโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อศักยภาพในการดูแลพ่อแม่และผู้สูงวัยที่อยู่ที่บ้าน

ขณะเดียวกัน ผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมากในสิงคโปร์ก็เลือกที่จะเป็นโสดกันมากขึ้น หรือไม่ หากพวกเธอแต่งงานก็จะเลือกที่จะมีบุตรจำนวนให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของอัตราการเกิดของประชากรที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่า สิงคโปร์มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา และนอกเหนือจากเรื่องของค่าครองชีพที่นับวันจะยิ่งแพงขึ้นแล้ว หนึ่งในเหตุผลหลักที่ผู้หญิงสิงคโปร์เลือกที่จะไม่แต่งงานหรือมีบุตรน้อยลง ก็คือการมีชั่วโมงทำงานที่หนักและยาวนานนั่นเอง

จากการสถิติระดับนานาชาติเมื่อปี 2015 พบว่า ประชาชนในประเทศสิงคโปร์ครองแชมป์อันดับที่ 2 ในการมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานที่สุด ในบรรดากลุ่มเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้ว โดยทำงานเฉลี่ย 45.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ แชมป์อันดับ 1 ของกลุ่มเมืองใหญ่ที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ ฮ่องกง ที่ประชากรทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากถึง 50.1 ชั่วโมง

เมื่อพิจารณาดูจากสถิติประจำปี 2016 ของการเปรียบเทียบในระดับกลุ่มประเทศ รายงานจาก ManpowerGroup กลุ่มที่ปรึกษาฝ่ายบุคคลระหว่างประเทศ พบว่า กลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 20-34 ปี ในสิงคโปร์ มีชั่วโมงการทำงานยาวนานมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ร่วมกับจีนและเม็กซิโก ที่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่อันดับ 1 ตกเป็นของประเทศอินเดีย ซึ่งทำงานเฉลี่ยที่ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ในแต่ละปีมีพนักงานบริษัทต่าง ๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 200 คน ส่งคำร้องเข้ามายังกระทรวงฯเพื่อร้องเรียนเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจนเกินไป โดย Channel News Asia ยกตัวอย่างไว้กรณีหนึ่งคือ คริสตัล หว่อง นักตรวจสอบบัญชีวัย 27 ปี ที่เล่าว่าการทำงานหนักเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตของเธอลำบากอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอต้องวางแผนเพื่อสร้างครอบครัว โดยปัจจุบันเธอมีลูกชายอายุ 1 เดือน และกำลังวางแผนกับสามีว่าต้องการจะหยุดแค่บุตรคนที่สองเท่านั้น เพราะคิดว่าปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายและการมีชั่วโมงทำงานยาวนานคือข้อจำกัดที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนั้น คริสตัลยังเล่าอีกด้วยว่า สถานที่ทำงานเก่าของเธอกดดันเธออย่างหนัก ด้วยการบอกให้เธออย่าเพิ่งมีบุตรในช่วงครึ่งปีแรกของปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งที่สุด และทางบริษัทก็ต้องการให้พนักงานทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลาและภาระงาน ในที่สุดคริสตัลจึงตัดสินใจลาออก แต่ก็มารู้ตัวหลังจากเริ่มทำงานที่ใหม่ไปได้เพียงเดือนเดียวว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งหลังจากการคลอดแล้ว เธอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการฝากลูกไว้กับผู้เป็นแม่ตลอดทั้งวัน ระหว่างที่เธอไปทำงาน และจะไปรับลูกกลับบ้านได้อีกที ก็เป็นช่วงหลังเลิกงาน หรือประมาณ 18.30 น. ล่วงไปแล้ว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่าการทำงานอันยาวนานในแต่ละวัน ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวสิงคโปร์ในปัจจุบัน โดย Tan Ern Ser นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า การทำงานหนักและความเครียดจากงานนำไปสู่คุณภาพชีวิตครอบครัวที่ย่ำแย่ลง โดยเฉพาะกับสมาชิกที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากที่สุด ซึ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ในกรณีที่แม้ว่าตัวจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัว แต่จิตใจและความคิดก็ยังต้องอยู่กับงานตลอดเวลา ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้รับอิทธิพลเชิงลบจากการทำงานหนักตามไปด้วย


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog