ไม่พบผลการค้นหา
Day Break - 20 ส.ค. ดีเดย์สูบบุหรี่กระทบคนในบ้านผิดกม. - Short Clip
Jun 23, 2019 02:30

ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป การสูบบุหรี่ภายในบ้าน จนส่งผลกระทบกับบุคคลในบ้านจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัว 

พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ หลังการประกาศ 90 วัน หรือในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ มีการกำหนดบทบัญญัติหลายเรื่อง เพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมครอบครัว และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลต่างๆ

ในส่วนของความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ว่าหมายถึง การกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวกระทำต่อกัน โดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งคำว่าครอบครัวมี 3 ลักษณะ คือ ตามสายโลหิต ตามพฤตินัย , นิตินัย และบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ จากการศึกษายังพบอีกว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากเกือบ 5 ล้านครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองภายในบ้าน มีมากกว่า 10 ล้านคน ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ คนไม่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ ส่วนเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ เด็กเหล่านี้มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดบทบัญญัติในเรื่องนี้ 

ตามพระราชบัญญัติใหม่นี้ จะถือว่าผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิดฐานก่อความรุนแรงในครอบครัว อาจจะต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิด 2 ศาล คือ ศาลอาญา กรณีที่มีการทำร้ายทางกาย ได้รับโทษตามกฎหมายอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้คุ้มครองคนในครอบครัวและสั่งบังคับให้ผู้ที่สูบบุหรี่และทำให้เกิดปัญหาภายในบ้าน เข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอีก


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog