ไม่พบผลการค้นหา
ไทยตามหลังมาเลเซีย-เวียดนามในดัชนีนวัตกรรมโลก
Jun 19, 2017 02:56

มหาวิทยาลัยชื่อดังและองค์กรระหว่างประเทศเผยผลจัดอันดับ 127 ประเทศตามดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2017 พบว่าไทยมีคะแนนด้านการส่งเสริมนวัตกรรมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แต่ยังตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

มหาวิทยาลัยคอร์แนลของสหรัฐฯ และสถาบันด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของสิงคโปร์ INSEAD ร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เผยรายงานการประเมินผลงานด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมของ 127 ประเทศทั่วโลก อ้างอิงจากการวัดผลโดยใช้ดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ประจำปี 2017 พบว่าสวิตเซอร์แลนด์ยังคงติดอันดับ 1 ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกเป็นปีที่ 3 โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด 67.69 คะแนน

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ 2 – 25 ได้แก่ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ลักเซมเบิร์ก ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง (เขตบริหารพิเศษจีน) อิสราเอล แคนาดา นอร์เวย์ ออสเตรีย นิวซีแลนด์ จีน ออสเตรเลีย สาธารณัฐเชก และเอสโตเนีย

รายงานของ GII ระบุด้วยว่าการที่จีนติดอันดับ 22 ในปีนี้ ทำให้จีนเป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศแรกที่มีคะแนน GII ติดอยู่ใน 25 อันดับแรกของโลก ซึ่งเป็นผลจากความพยายามในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อกลบจุดด้อยและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 51 คะแนนรวม 37.57 ซึ่งถือว่าดีขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยเมื่อปีที่แล้วไทยติดอันดับ 52 และปี 2015 ติดอันดับที่ 55 ทั้งยังเป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ และการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GERD) ติดอันดับ 5 และ 6 ของโลก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม คะแนนรวมตามดัชนี GII ของไทยยังตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งทั้งสามประเทศติดอยู่ในอันดับที่ 7, 37 และ 47 โดยสิงคโปร์ถือเป็นประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมอันดับ 1 ทั้งของทวีปเอเชียและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่มาเลเซียมีคะแนนการส่งเสริมนวัตกรรมรวมทุกด้านติดอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

การจัดอันดับตามดัชนี GII ปีนี้เป็นปีที่ 10 บ่งชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลต่อการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างมาก โดยหลายประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีแนวโน้มที่จะลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาน้อยลง ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ส่งเสริมมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเข้มงวดกวดขันเรื่องการให้งบประมาณวิจัยและพัฒนามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาคะแนนของดัชนี GII อ้างอิงกับการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศเพื่อส่งเสริมงานวิจัย การพัฒนาและการลงทุน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้านต่างๆ เปรียบเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog