ไม่พบผลการค้นหา
ตรวจเสียงในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำต้องลุ้นกับการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พร้อมทั้งต้องสู้ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ซึ่งผลมีต่อสถานะความเป็นไปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท มีคิวเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการในวันที่ 17 - 19 ต.ค.นี้

'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า จะแบ่งเวลาให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้อภิปรายฝ่ายละ 15 ชั่วโมง หากฝ่ายใดประท้วงจะหักเวลาฝ่ายนั้น ซึ่่งยังไม่นับรวมกับเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงต่อที่ประชุมสภาฯ

แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะไม่ได้ห้ามรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.โหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้เหมือนเช่นรัฐธรรมนูญ ปี 2550

"มาตรา 163 รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เว้นแต่เป็นการออกเสียงลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย และให้นําเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 124 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" นี่คือถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้

แต่ด้วยสภาพที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ จากเมื่อครั้งตอนตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ 19 พรรคร่วมรัฐบาล

และปัจจุบันเหลือเพียง 16 พรรคที่ยังกอดคออยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ด้วยเหตุที่พรรคประชาชนปฏิรูปที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรคได้สิ้นสภาพลง และย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่มี 'มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์' ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ประกาศถอนตัวมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ

เช่นเดียวกับ 'พรรคประชาธรรมไทย' ที่มี 'พิเชษฐ สถิรชวาล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ก็ประกาศถอนตัวมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ

พิเชษฐ-มงคลกิตติ์ ไทยศรีวิไลย์ ประชาธรรมไท

เป็นผลให้พรรครัฐบาลที่มีเสียงอยู่ 254 เสียง เหลือเพียง 252

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน มี ส.ส.เท่าที่มีอยู่ 497 คน

จากการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถูกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นในกิจการสื่อ

รวมทั้งต้องรอผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม เขต 5 หลัง 'จุมพิตา จันทรขจร' ลาออก ด้วยปัญหาสุขภาพ

ขณะที่ 'นวัธ เตาะเจริญสุข' ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ เพราะต้องคำพิพากษาของศาลให้จำคุก

ทำให้ 7 พรรคฝ่ายค้านมีเสียง ส.ส.เหลืออยู่ 243 เสียงเท่านั้น

ถ้าตรวจสอบเสียงในการลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวันที่ 17-19 ต.ค.

ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายสำหรับรัฐบาล

เพราะด้วยเสียงส.ส.เท่าที่มีอยู่ 497 เสียง การผ่านร่าง พ.ร.บ.ต้องใช้เสียงเห็นชอบด้วยเกินกึ่งหนึ่งที่ 249 เสียง

หากจำแนกเสียงของรัฐบาล 252 เสียง ประกอบด้วย

  • พรรคพลังประชารัฐ 117 เสียง
  • พรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง
  • พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง
  • พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
  • พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง
  • พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง
  • พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
  • พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง
  • พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง
  • พรรคพลังไทยรักไทย 1 เสียง
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง
  • พรรคประชานิยม 1 เสียง
  • พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง
  • พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง
  • พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง

และยิ่งต้องโหวตขั้นรับหลักการวาระที่1 ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติในสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานสภาฯ 3 เสียงจะต้องงดออกเสียงแล้ว

จะทำให้เสียงของรัฐบาลผสมเหลือเสียงที่จะยกมือโหวตเห็นชอบได้เพียง 249 เสียง

249 เสียงของรัฐบาลจึงเป็นเสียงที่เฉียดฉิวกับเสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่ 497 เสียง คือ 249 เสียง

ปิยบุตร สภา อนาคตใหม่

ขณะที่เสียงของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมี 243 เสียง ในขณะที่ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถูกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 จากการถือหุ้นสื่อ

การคุมเสียงในสภาของวิปรัฐบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่พิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เท่านั้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยตัวแปรอยู่ที่เสียงของฝ่ายค้านอิสระ 2 เสียง คือพรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคประชาธรรมไทย

"ที่ผ่านมาบางเรื่องก็ฝืนความรู้สึก ฝืนความถูกต้องก็ให้ลืมไปจากนี้ให้รอดูการทำงานของผมในฐานะ กมธ. ส่วนเรื่องพ.ร.บ.งบประมาณ ก็พร้อมสนับสนุนให้ประเทศเดินหน้าไปได้" นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เคยระบุไว้เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562

ยิ่งจับคำพูดของ 'พิเชษฐ' ล่าสุด ก็มีความเป็นไปได้ที่จะโหวตเห็นชอบให้กับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 

ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่มีปัญหาในขั้นตอนการรับหลักการในวาระที่ 1 และมีความเป็นไปได้ที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ และเข้าสู่ชั้นพิจารณาในวาระที่ 2 - 3

ถึงแม้เสียงของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ไม่ต้องห่วงกับรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. เพราะกฎหมายให้สิทธิในการลงมติโหวตร่างกฎหมายได้

วิรัช พลังประชารัฐ

แต่สภาพของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำในตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้นจะปลอดภัย

เมื่อพรรคพลังประชารัฐ อาจจะต้องเสีย ส.ส. 2 ที่นั่งในอนาคตอันใกล้นี้

เพราะ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีร่วมเป็นแกนนำ นปช. บุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยาเมื่อปี 2552 ก็รอฟังคำพิพากษาของศาลในวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งแกนนำต่างถูกคำพิพากษาของศาลให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ซึ่งผลการพิจารณาของ พ.ต.ท.ไวพจน์ ในกรณีถูกศาลพิพากษาให้จำคุก ก็จะมีผลทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2 ใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ 'กรุงศีวิไล สุทินเผือก' ส.ส.สมุทรปราการ เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ ก็ถูก กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ใบเหลือง (เลือกตั้งใหม่) กรณีบุคคลใกล้ชิดใส่ซองช่วยงานศพ ซึ่ง กกต.เห็นว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 73 (1) ให้ เสนอให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง

การช่วงชิง ส.ส.ที่ในเขตเลือกตั้งที่อาจว่างลงในอนาคต จึงเป็นการช่วงชิงที่นั่งในสภาฯ

เพราะหากรัฐบาลพลาดท่าให้กับฝ่ายค้านทั้งหมด ก็อาจมีผลสะเทือนถึงความอยู่รอดของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาค 2

และนั่นหมายความว่าเสียงของรัฐบาลอาจล้มลงกลางสภาฯ ได้เมื่อนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง