ไม่พบผลการค้นหา
รำลึกเรื่องราวการชุมนุมที่สร้างความแตกแยกที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง

"เลโอ ตอลสตอย" (Leo Tolstoy) นักเขียนนามอุโฆษของรัสเซีย เคยบอกไว้ว่า "ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวของชีวิต ของประเทศชาติ..."

ถ้าเป็นไปตามนี้ เรื่องใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศ และมีผลกับชีวิตผู้คน นั่นถือเป็น "ประวัติศาสตร์" ทั้งหมด ไม่ว่ามันจะขมขื่นยืนหนาว หรือเลวร้ายโง่งมอย่างไร รวมถึง "การชัตดาวน์กรุงเทพฯ" เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ฉันขอคาดเดาว่า มันกำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ "ถูกทำเป็นลืม"

เดือนมกราคม 5 ปีก่อน การชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กปปส. ถือว่ามีความเป็น "ที่สุด" ในหลายๆ มิติ โดยในมิติด้านปริมาณ ม็อบนกหวีดถือว่ามีระยะเวลาชุมนุมที่ยาวนานเป็นร้อยๆ วัน, มีจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมพีคสุด (ตามที่สื่อบางเจ้าบอก) ถึง 5 ล้านกว่าคน, มีเวทีดาวกระจายใน กทม.เยอะสุดอะไรสุดทั้งแจ้งวัฒนะ ลาดพร้าว สวนลุม ฯลฯ แสง สี เสียง จัดเต็ม ฯลฯ 

ขณะที่ในมิติด้านผลกระทบต่อชีวิต ต้องบอกเลยว่านี่ถือเป็นม็อบที่สร้างการถกเถียงสุดๆ ตั้งแต่ระดับสังคม ไปจนถึงระดับครัวเรือน ในห้วงเวลานี้หลายคนคงเคย unfriend เพื่อน หรือถูกเพื่อน unfriend ซะเองจากทัศนคติที่ไม่ตรงกัน เรียกได้ว่า "เลิกคบ" กันไปเลยก็มี

เรื่องการเลิกคบ หรือ unfriend ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ และดูเป็นเรื่องของเด็กน้อยหอยสังข์ คนเราไม่จากเป็นก็จากตาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว นี่สะท้อนแนวคิดอะไรบางอย่างของผู้คนในสังคม นั่นคือ "การไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น" ไม่ยอมรับจนถึงขนาดต้องปิดกั้นการรับรู้ ตัดขาดกับคนที่คิดต่าง และในที่สุดก็กลายเป็น "พวกเขา-พวกเรา" (Ingroup-Outgroup) ที่ทฤษฎีทางสังคมวิทยาบอกว่า กลุ่มก้อนที่มีความคิดแบบนี้มักจะมีความลำเอียงชื่นชมในกลุ่มตัวเอง และ "ดูถูก" คนที่ถูกมองว่าอยู่นอกกลุ่ม (Outgroup derogation) เห็นชัดๆ ก็ในโลกออนไลน์นี่เอง ใครคอมเม้นแสดงความคิดเห็นไม่ถูกใจ ก็เป็นควายแดง เป็นสลิ่มแมงสาบกันไป สำหรับฉันแล้ว มองว่าม็อบนกหวีดที่ผ่านมาได้ "เน้นย้ำ" จุดอ่อนเรื่อง “พวกเขา-พวกเรา” ของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด...

ฉันมองว่าธรรมชาติของการไม่รับฟัง มักมาพร้อมกับ "การไม่ทบทวน" เราจึงอาจเคยได้ยินวาทะกรรม "พี่ไม่ได้ตามเรื่องการเมืองแล้วค่ะ" อารมณ์ประมาณกำปั้นทุบดิน ว่าฉันไม่อยากรับรู้ผลจากการเรียกร้องริมถนนครั้งนั้น หรืออาจเห็นเพื่อนบางคนลบรูปการร่วมเป็น "มวลมหาประชาชน" ออกจากไทม์ไลน์ไปแล้ว และเพิกเฉยกับทุกความโกงที่เกิดขึ้นแบบตรวจสอบไม่ได้ ขณะที่ตัวหัวหน้าคณะชัตดาวน์ กำลังเดินสายคารวะแผ่นดินอย่างแข็งขัน ทิ้งประวัติศาสตร์ที่เคยร่วมกันก่อไว้เบื้องหลังเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

ฉันเคยนั่งคิดเล่นๆ ว่าในอนาคตอีก 10 ปี 20 ปี หนังสือเรียนจะเขียนถึงเหตุการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ครั้งนี้อย่างไรหนอ หรือจะ "ถูกทำเป็นลืม" ปล่อยให้มันว่างๆ งงๆ เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา-พฤษภาทมิฬ "

สุดจะคาดเดา ....แต่เอาเถอะฉันเชื่อว่าจะมีคนอีกเป็นล้านๆ ที่ระลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้เสมอ 

----------------------------------

ภาพปก: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

อ้างอิง

นาฎวิภา ชลิตานนท์, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2524.

คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง, สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเบื้องต้น, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2559.

https://www.bbc.com/thai/thailand-41804763


วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog