ไม่พบผลการค้นหา
ฮ่องกงกวาดจับนักการเมือง-นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย กระทบการรวมตัวประท้วงรัฐบาลช่วงสุดสัปดาห์ 31 ส.ค.-1 ก.ย. ทำให้สื่อนอกจับตาฮ่องกง จะใช้ 'ก.ม.ฉุกเฉิน' หรือไม่ - 'โจชัว หว่อง' ชี้ โลกอาจไม่สนใจผู้ประท้วงฮ่องกง แต่ถ้าประกาศภาวะฉุกเฉินจะเป็น 'เรื่องใหญ่' กระทบเศรษฐกิจ

รัฐบาลฮ่องกงจับกุมนักการเมืองและนักกิจกรรมฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยหลายราย ไม่ว่าจะเป็น 'แอนดี้ ชาน' หัวหน้าพรรคชาติฮ่องกง (HNP) 'โจชัว หว่อง' และ 'แอกเนส เจา' อดีตแกนนำ 'การประท้วงร่ม' เมื่อปี 2014 ที่เรียกร้องการปฏิรูประบบการเมืองฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 'เดโมซิสโต' ทั้งยังมีนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงในปัจจุบันถูกจับกุมด้วย รวม 8 คน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 ส.ค. โดยข้อหาที่ได้รับมีทั้ง 'ต้องสงสัย' ว่าจะก่อเหตุจลาจล รวมถึง 'ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่' 

ต่อมา โจชัว หว่อง และแอกเนส เจา ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกมาได้ แต่ถูกสั่งห้ามออกจากที่พักอาศัยตั้งแต่เวลา 23.00 น.-07.00 น.ของวันที่ 30 ส.ค.และวันต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงกำหนดที่ศาลเรียกตัวขึ้นให้ปากคำในคดีที่ถูกกล่าวหา ในวันที่ 8 พ.ย.2562

 Reuters-โจชัว หว่อง แอกเนสเจา เดโมซิสโต
  • แอกเนส เจา และ โจชัว หว่อง ได้รับการปล่อยตัว แต่ถูกสั่งจำกัดบริเวณในยามวิกาล

ท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮ่องกงในครั้งนี้ถูกกลุ่มนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยมองว่าเป็นความพยายามสกัดกั้นไม่ให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึง ซึ่งการประท้วงจะย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 13 ทำให้ผู้ประท้วงฮ่องกงยกเลิกการรวมตัวกันในช่วงสุดสัปดาห์ออกไปก่อน เพราะเกรงว่าจะเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนเผยแพร่ภาพผ่านสื่อในการกำกับดูแลของตัวเอง แสดงให้เห็นภาพรถถังและทหารจีนแผ่นดินใหญ่ เคลื่อนกำลังพลเข้ามาใกล้เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า อาจมีการใช้กำลังอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุม เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงประกาศว่าอาจจะพิจารณาบังคับใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมความสงบภายในฮ่องกง และมีผู้เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือด เหมือนการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1989 


กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินของฮ่องกงมีความหมายอย่างไร?

หากรัฐบาลฮ่องกงประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อบังคับใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน จะทำให้ 'แคร์รี หล่ำ' ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง มีอำนาจเต็มที่ในการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจ หรือดำเนินการจับกุม คุมขัง ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงสาธารณะ รวมถึงส่งตัวผู้ต้องสงสัยออกนอกประเทศ และสามารถสั่งปิดท่าอากาศยานหรือท่าเรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งสื่อต่างประเทศหลายสำนักประเมินว่า รัฐบาลฮ่องกงอาจพิจารณาดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจริงๆ หรืออาจใช้เป็น 'คำขู่' ให้ผู้ชุมนุมหวาดกลัว

ด้าน 'นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว' รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'โจชัว หว่อง' หลังได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเขาระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกอาจจะไม่สนใจการประท้วงฮ่องกงอะไรมากมาย แต่หากบังคับใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินในย่านธุรกิจใจกลางฮ่องกง อาจทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโลก

ประท้วงฮ่องกง Hong Kong Protest แก๊สน้ำตา tear gas 270719

หว่องระบุว่า รัฐบาลฮ่องกงอาจจะพยายามทำให้ผู้ชุมนุมกลัว แต่การใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินจะทำให้ทั่วโลกหวาดกลัวมากกว่า และการจับกุมและดำเนินคดีนักกิจกรรมไม่ได้ช่วยบรรเทาความโกรธของสาธารณชน แต่จะยิ่งทำให้พวกเขามุ่งมั่นยิ่งกว่าเดิม

ขณะที่ไซมอน ยัง นักวิชาการด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยฮ่องกง บอกกับเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) ว่ากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1922 ซึ่งเป็นยุคที่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งยังเป็นภาวะที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง การบังคับใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินในยุคนี้จะยิ่งทำให้ฮ่องกงอยู่ในภาวะถดถอยด้านประชาธิปไตย และจะยิ่งทำให้ผู้ประท้วงรัฐบาลไม่พอใจมากยิ่งขึ้น และการชุมนุมประท้วงก็จะยิ่งยืดเยื้อต่อไป

ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงฮ่องกงเริ่มจากการรวมตัวต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกงที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. กลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงในภายหลัง ทั้งยังมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่หลากหลายขึ้น โดยก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงประกาศให้ชัดเจนว่า 'เพิกถอน' ร่าง ก.ม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ออกจากสภานิติบัญญัติแล้วจริงหรือไม่ เพราะไม่ไว้ใจ 'แคร์รี หล่ำ' ผู้บริหารพิเศษฮ่องกง ที่ประกาศว่าร่างกฎหมายดังกล่าว 'ถูกฆ่าไปแล้ว' แต่ผู้ชุมนุมเกรงว่าจะเป็นคำที่ไม่มีผลตามกฎหมาย 

ขณะที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่าเป็น 'การจลาจล' เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินจริง พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง ทั้งยังมี 'กลุ่มอันธพาลไม่ทราบฝ่าย' ที่รวมตัวกันทำร้ายผู้ประท้วงรัฐบาลฮ่องกง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจติดตามนำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้

AFP-ประท้วงฮ่องกง กระแส MeToo

กระแส #MeToo จุดติดในการประท้วงฮ่องกง

ก่อนหน้าที่จะเกิดการกวาดจับนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ได้มีการประท้วงช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (28-29 ส.ค.2562) โดยผู้ประท้วงราว 30,000 คนได้ชูป้าย #MeToo รณรงค์ต่อต้านการละเมิดทางเพศเพิ่มเติมจากการประท้วงรัฐบาล โดยมีต้นตอจากกรณีที่ผู้หญิงฮ่องกงซึ่งเข้าร่วมการประท้วงออกมาเปิดเผยว่า พวกเธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยใช้ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ โดยระบุว่าเหตุล่วงละเมิดเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้ประท้วงรายหนึ่งระบุว่า เธอถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นว่าเธอซุกซ่อนอาวุธเอาไว้ในตัวหรือไม่ ซึ่งนอกจากการบังคับค้นตัวจะไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติทางกฎหมายแล้ว การให้เจ้าหน้าที่ผู้ชายตรวจค้นก็เรียกได้ว่าเป็น "การจงใจให้ผู้ประท้วงเกิดความอับอายและถูกดูหมิ่น"

ส่วนผู้ชุมนุมอีกรายหนึ่งระบุว่าเธอถูกเจ้าหน้าที่ลากตัวไปกับพื้น จนกระโปรงที่สวมอยู่เปิดขึ้นมาจนเห็นกางเกงชั้นใน เธอพยายามร้องตะโกนให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว เพื่อที่จะลุกขึ้นมาเดินเอง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ด่าประณามอย่างรุนแรงว่าเป็น 'โสเภณี'

การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและเข้าข่ายละเมิดทางเพศทำให้ผู้ประท้วงฮ่องกงหยิบประเด็นการรณรงค์ #MeToo มาเป็นเหตุผลในการรวมตัวกันช่วงกลางสัปดาห์ ต่างจากปกติที่มักจะรวมตัวกันช่วงสุดสัปดาห์ โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษ แต่รัฐบาลฮ่องกงก็ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประท้วงคนใดมายื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกสั่งให้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างมีมนุษยธรรม

ฮ่องกงประท้วงร่าง ก.ม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน-จี้แคร์รี่ หล่ำลาออก-21.jpg110819 ประท้วงฮ่องกง จับกุม Hong Kong Protest Arrest

อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงและเจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกันรุนแรงหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่บางรายใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการบังคับควบคุมตัว รวมถึงใช้ถ้อยคำยั่วยุผู้ประท้วง ในขณะที่ผู้ประท้วงบางส่วนก็ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน โดยมีทั้งการขว้างปาระเบิดขวดและก้อนอิฐเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย และมีผู้ถูกจับกุมแล้วประมาณ 900 ราย

ด้าน 'แคร์รี่ หล่ำ' ประกาศว่า เธอจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ประท้วงกล่าวหา พร้อมทั้งตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ระบุว่า เธอไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การประท้วงได้ โดยเธอย้ำว่า ผู้ชุมนุมที่ก่อความรุนแรงจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

ที่มา: AP/ The Guardian/ Nikkei Asian Review/ Reuters/ SCMP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: