ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติยอมถอยอีกก้าว ผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ปลดล็อกคนอยากกู้ซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ต้องวางเงินดาวน์ แถมให้กู้ตกแต่งได้อีกร้อยละ 10 ส่วนบ้านหลังแรกราคาเกิน 10 ล้านบาท ลดเงินดาวน์เหลือร้อยละ 10 มีผลตั้งแต่วันนี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท. ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV (Loan to Value) มีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อ 1 เม.ย.2562 และได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเหมาะสมเมื่อเดือน ส.ค. 2562 เพื่อปลดล็อกกรณีผู้กู้ร่วม ล่าสุดในการประชุมร่วมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้พิจารณาให้ปรับปรุงเกณฑ์ของมาตรการดังกล่าวอีกครั้ง 

ด้วยเป้าหมายต้องการให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านจริงๆ ได้มีบ้านในราคาที่เหมาะสม ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยงได้ ประกอบกับสัญญาณการเก็งกำไรลดลงมาบ้าง หลังจากออกมาตรการ LTV เมื่อปีที่ผ่านมา จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อีกครั้งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กรณีขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาแรก (บ้านหลังแรก) ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยังคงเพดาน LTV 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ต้องวางเงินดาวน์ แต่ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีกร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักประกัน สำหรับเป็นการกู้เพื่อตกแต่งซ่อมแซมบ้าน หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ โดยเมื่อเงินกู้ส่วนนี้เป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกัน จะมีผลให้ดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งหมายถึง ผู้กู้สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้เต็มจำนวนมูลค่าหลักทรัพย์และมีเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักประกัน

กรณีบ้านหลังแรก ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ปรับเกณฑ์ LTV จากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 90 หรือจากต้องวางเงินดาวน์ร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักประกัน 

กรณีบ้านหลังที่ 2 หรือ สัญญาที่ 2 ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และผ่อนชำระบ้านหลังแรกมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี มี LTV ร้อยละ 90 หรือ วางดาวน์ร้อยละ 10 เท่านั้น จากเดิมต้องผ่อนชำระบ้านหลังแรกหรือสัญญาที่ 1 มานานกว่า 3 ปีแล้ว ขณะที่บ้านสัญญาที่ 2 ที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ยังต้องวางเงินดาวน์ร้อยละ 20 เช่นเดิม 

กรณีบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป หรือ สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ไม่ว่าจะราคาระดับใด จะมี LTV ร้อยละ 70 หรือ วางเงินดาวน์ร้อยละ 30 

อีกทั้งครั้งนี้ ยังได้ปรับเกณฑ์ควบคุมความเสี่ยงด้วยการให้สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อปรับเงินกองทุนที่ต้องดำรงสำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และการกู้สร้างบ้านบนที่ดินปลอดภาระ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้มีกำลังปล่อยกู้ได้มากขึ้น หรือ มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ลดลงได้ด้วย

"ที่ผ่านมา เห็นว่า หลังออกมาตรการ คนต้องการมีบ้านก็สามารถมีบ้านในราคาเหมาะสมได้ และจะไม่เป็นภาระของคนอยากมีบ้านในระยะยาว และคิดว่า การผ่อนเกณฑ์ที่ออกมาครั้งนี้ ไม่ได้ทำช้าไป" นายรณดล กล่าว

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาตรการ LTV เพราะเห็นสัญญาณคงค้างของอสังหาฯ ตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยความต้องการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือน และยังเห็นตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้จากกลุ่มผู้กู้บ้านหลายสัญญาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการเปิดขายโครงการใหม่มากเกินกว่าความต้องการซื้อที่แท้จริง ประกอบกับการกระตุ้นการขายเพิ่มลงทุน ส่วนสถาบันการเงินแข่งขันปล่อยสินเชื่อบ้าน โดยยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นและมีลักษณะหย่อนยานมาตรฐาน จนนำไปสู่ 'สินเชื่อเงินทอน' ที่สูงถึง 1 ใน 4 ของสินเชื่อปล่อยใหม่ 

อย่างไรก็ตาม หลังมีมาตรการ LTV ธปท. พบว่า ใน 11 เดือนแรกของปี 2562 สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ยังขยายตัวร้อยละ 10.8 ขณะที่สินเชื่อบ้าน (ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไม่รวม ธอส.) ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการขยายตัวของสินเชื่อบ้านหลังแรกร้อยละ 5.6 ขณะที่สินเชื่อบ้านหลังที่สองขึ้นไปลดลงร้อยละ 20.4

"มาตรการ LTV ที่ประกาศออกมา ยืนยันได้ว่า คนซื้อบ้านสัญญาแรก แทบไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อดูดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจากที่เคยเร่งตัวขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงก่อนหน้า พอมาตรการออกมาก็ยังปรับเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ช้าลง" นายสักกะภพ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :