ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาในไทยชี้ การประท้วงฮ่องกง 'ซับซ้อน-ย้อนแย้ง' เกินกว่าจะฟันธงตอนจบ แต่เป็นนวัตกรรมการประท้วงที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ส่วนผู้ประท้วงฮ่องกงชูป้ายขอโทษผู้ได้รับผลกระทบ แต่อีกทางหนึ่งก็ยืนยัน 'สู้ไม่ถอย' สวนทางกลุ่มทุนใหญ่ที่เรียกร้องผู้ประท้วงยุติความรุนแรง และ 'ดับความโกรธแค้นด้วยความรัก'

ลีกาชิง มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง ลงโฆษณาในสื่อกระแสหลักหลายฉบับของฮ่องกง เมื่อ 16 ส.ค.2562 เรียกร้องให้ทุกฝ่าย 'รักจีน รักฮ่องกง และรักตัวเอง' โดยพาดพิงสถานการณ์ทางการเมืองในฮ่องกงตลอดช่วง 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกของลีกาชิง หลังจากที่เขาประกาศวางมือจากวงการธุรกิจไปเมื่อปีที่แล้ว 

ข้อความอื่นๆ ของลีกาชิงที่ปรากฏในหน้าโฆษณา รวมถึงการเรียกร้องให้ "ดับความโกรธแค้นด้วยความรัก" "หยุดใช้ความรุนแรง" และ "สนับสนุนเสรีภาพ ความอดทนอดกลั้น และหลักนิติรัฐ" พร้อมลงชื่อว่า 'ลีกาชิง พลเมืองฮ่องกง' ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเขายืนอยู่ข้างผู้ประท้วงหรือว่ารัฐบาลฮ่องกง แต่รอยเตอร์รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของลีกาชิง ซึ่งโฆษกส่วนตัวเขาเป็นผู้เผยแพร่ในเวลาต่อมา เตือนว่า "ถนนมุ่งสู่นรกมักจะเริ่มต้นจากความตั้งใจที่ดี เราจึงต้องระมัดระวังสิ่งที่จะเกิดตามมาอย่างไม่ได้ตั้งใจด้วย"

แถลงการณ์ของลีกาชิงยังระบุด้วยว่า การลงทุนเพื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญ และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในอนาคตก็มีเป้าหมายเพื่อฮ่องกงเอง พร้อมย้ำว่า คนหนุ่มสาวมักจะหวาดกลัวอนาคตที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วม แต่ตอนนี้รัฐบาลน่าจะได้ยินเสียงของผู้ประท้วงอย่างชัดเจนแล้ว เชื่อว่าจะนำไปสู่การระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไข

สิ่งที่ลีกาชิงกล่าว ถูกมองว่าเป็น 'สาร' ที่ส่งถึงรัฐบาลฮ่องกง เพราะก่อนหน้านี้ 'แคร์รี หล่ำ' ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังพูดถึงกลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นเพียงคนรุ่นเยาว์ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในอนาคตของฮ่องกง ทำให้หล่ำต้องแถลงชี้แจง โดยย้ำว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในอนาคตของฮ่องกง

ส่วนลีกาชิง วัย 90 ปี เป็นมหาเศรษฐีฮ่องกงที่ได้รับฉายาว่า 'วอร์เรน บัฟเฟตแห่งเอเชีย' เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บสว่าเป็นบุคคลร่ำรวยอันดับ 23 ของโลก และร่ำรวยที่สุดในฮ่องกง เพิ่งจะยุติบทบาทในฐานะประธานบริหารบริษัทซีเค ฮัตชิสัน โฮลดิ้งส์ ไปเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว โดยบริษัทของเขามีกิจการอยู่หลายประเภท กระจายตัวอยู่ใน 52 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก


'กลุ่มทุน' ไม่ปลื้มเศรษฐกิจอ่วม หนุน 'รัฐบาล-ตำรวจ' สลายการชุมนุม

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของลีกาชิง ยังมีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงอีกหลายคนที่ออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการประท้วง เช่น ปีเตอร์ อู่ ประธานบริหารเครือธุรกิจ Wheelock และ Wharf Holdings หนึ่งในคณะที่ปรึกษารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในประเด็นที่เกี่ยวกับฮ่องกง

ปีเตอร์ อู่ ยกย่อง 'แคร์รี หล่ำ' ว่าเป็น 'ธิดาแห่งฮ่องกง' ซึ่งมีความตั้งใจดีในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วง โดยระบุว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และดูเหมือนจะยิ่งน่ากลัวขึ้นทุกวัน

Reuters-ผู้ประท้วงฮ่องกงยึดสนามบินขอโทษนักท่องเที่ยว-1.JPG
  • ผู้ประท้วงฮ่องกงชูป้ายขออภัยผู้ได้รับผลกระทบจากการบุกเข้าไปในสนามบินนานาชาติเมื่อ 13 มิ.ย.

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SMCP) สื่อฮ่องกง รายงานว่าปีเตอร์ อู่ เป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจอสังหาฯ ที่ออกมาต่อต้านการประท้วง โดยระบุว่า เป็นการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย บ่อนทำลายเสถียรภาพฮ่องกง ทั้งยังสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจฮ่องกงในการปราบปรามการชุมนุมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงยืนยันว่าจะรวมตัวกดดันรัฐบาลฮ่องกงต่อไป โดยจะนัดเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ 17-18 ส.ค. 2562 และมีแนวโน้มสูงมากว่าการประท้วงจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง

แม้การประท้วงจะเริ่มจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ภายหลังได้มีการขยายประเด็นไปสู่ข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในฮ่องกง ต่อต้านการแทรกแซงของจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกง และกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงทำตามเงื่อนไข 4 ใน 5 ข้อที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องมาตลอด นับตั้งแต่ตำรวจฮ่องกงใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมครั้งแรกในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา


ความสัมพันธ์ 'จีน-ฮ่องกง' ซับซ้อน-ย้อนแย้งกว่าที่คิด

สถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในเอเชีย และเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง "ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?" เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยต่อประเด็นดังกล่าว

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวถึงปูมหลังของฮ่องกงยุคหลังปี 1997 ซึ่งเปลี่ยนจากที่เคยอยู่ในอาณัติของอังกฤษ กลับเข้ามาอยู่ภายใต้จีนอีกครั้ง แต่เป็นยุคที่ 'สาธารณรัฐประชาชนจีน' ได้ปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว แม้จะยังปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่แนวทางการปกครองของพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในยุคนี้ก็ไม่ใช่แนวทางเดียวกับสมัยเหมาเจ๋อตง แต่เป็น 'จีนที่ปฏิรูปไปแล้ว' และเข้าสู่ระบบตลาด

เสวนาฮ่องกงประท้วง
  • ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

ส่วนฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินการธนาคารและเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ดูเป็นเมืองที่สุดจะ 'ทุนนิยม' เมื่ออยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เป็นคอมมิวนิสต์ที่เข้าสู่ระบบตลาดแล้ว จึงมีสถานการณ์ย้อนแย้งหลายอย่างเกิดขึ้น เพราะรัฐชาติไม่ได้เป็นรัฐชาติแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แม้แต่'สังคมนิยม' และ 'พรรคคอมมิวนิสต์' ก็ไม่ใช่สังคมนิยมพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วๆ ไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับระบบอาณานิคมอังกฤษ ก็ไม่ใช่อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจหรือคาดหวัง 

ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีวันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติ เพราะได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชมา และเคยมีประวัติศาสตร์อันขมขื่นกับเจ้าอาณานิคมเก่า เช่น ดัตช์ในอินโดนีเซีย ฝรั่งเศสในเวียดนาม แต่เรากลับได้เห็นภาพของผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงบางส่วนที่มีความโหยหายุคแห่งการเป็นอาณานิคม (อังกฤษ) เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ สงครามเย็น การปะทะสังสรรค์กันระหว่างแนวคิดสังคมนิยม และการปฏิรูปของจีน ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก


ความไม่ชัดเจนของ 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' กระทบ 'ความเชื่อมั่น' 

จุดเริ่มต้นของการประท้วงครั้งนี้ เริ่มจากการต่อต้านร่างกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ซึ่ง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีน และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมการเสวนา อธิบายว่า ก่อนปี 1997 ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงใช้กฎหมายภายในของอังกฤษ แต่พอฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เป็นกฎหมายภายในของฮ่องกงเอง และมีการออกกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกงเช่นกัน

หลังปี 1997 มีการระบุว่าฮ่องกงจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีที่มีการตกลงในสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน และฮ่องกงตกลงเซ็นสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 20 ประเทศ มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนประมาณร้อยคน โดยที่ส่งกลับไปเยอะที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา

เสวนาฮ่องกงประท้วง
  • ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ 'ฮ่องกง' เป็นการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน ขณะเดียวกันฮ่องกงมีระบบกฎหมายที่เป็นอิสระของตัวเอง ภายใต้กรอบ basic law หรือ 'ธรรมนูญการปกครองฮ่องกง' เพราะฉะนั้น จีนไม่สามารถที่จะขอให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ได้ จนกว่าจะมีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายระหว่างฮ่องกงและจีนขึ้นมา ซึ่งก็มีความพยายามเจรจาทำสนธิสัญญากันมาตลอดตั้งแต่ปี 1997 แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องจากฮ่องกงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกัน จีนแผ่นดินใหญ่ในตอนแรกก็ไม่ได้เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่คิดว่าจะมีปัญหา  

"จนกระทั่งเกิดกรณีวัยรุ่นฮ่องกงไปเที่ยวไต้หวันกับแฟน แล้วถูกกล่าวหาว่าฆ่าแฟนที่ไต้หวัน เสร็จแล้วหนีกลับมาที่ฮ่องกง ประเด็นของเรื่องก็คือการกระทำความผิดมันเกิดขึ้นที่ไต้หวัน เพราะฉะนั้น ศาลฮ่องกงไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณา ฮ่องกงไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวันหรือจีน ทีนี้มันก็จะมีคำถามว่าแล้วจะทำยังไงที่จะส่งคนนี้กลับไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน อันดับแรกบอกว่าจะให้ฮ่องกงไปทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน ก็ไม่ได้ เพราะว่าฮ่องกงอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน และโดยระบบแล้วก็มีการระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ยอมแน่นอนที่จะให้ไปทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกัน ... "

"นักกฎหมายก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็แก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกงก็แล้วกัน โดยที่เราจะใส่เข้าไปว่าให้สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแเดนเป็น case by case ได้"

ฮ่องกงประท้วง.jpg
  • ชาวฮ่องกงออกมาชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม คนฮ่องกงจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมของจีน แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมของจีนในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจะมีการพัฒนามาโดยตลอด และมีนักวิชาการต่างชาติเคยประเมินว่า กระบวนการยุติธรรมจีนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะมีปัญหาทันทีถ้าหากเป็นคดีการเมือง ซึ่งหมายถึงคดีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีธงชัดเจนว่าต้องการจะจัดการกับเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน ในระบบศาลของประเทศจีนนั้น ศาลจีน 'ไม่ได้เป็นอิสระ' แต่อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในระบบศาลจะมีคณะกรรมการพรรคอยู่ด้วย จึงเกิดความกังวลขึ้นในสังคมฮ่องกงว่า ถ้าหากใครที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลจีนก็อาจจะถูกใช้กลไกนี้ และรัฐบาลจีนอาจจะขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไป และฮ่องกงก็จำเป็นที่จะต้องส่ง ไม่อาจขัดจีนได้


นวัตกรรมการประท้วง 'ปรับตัวไปพร้อมสถานการณ์'

'ประภาภูมิ เอี่ยมสม' ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 'วอยซ์ออนไลน์' ซึ่งติดตามรายงานการประท้วงฮ่องกงจากสถานที่จริง นับตั้งแต่การประท้วงร่มเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงครั้งแรก รวมถึงการประท้วงครั้งใหม่นี้ มองว่า สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม

"เมื่อปี 2014 เป็นการประท้วงต่อเนื่อง อยู่ยาวกันทั้งวันทั้งคืน ใครที่อยู่ยาวตรงนั้นได้ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันกินเวลายาวนานหลายเดือน ... ทำให้สุดท้ายแล้ว คนน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้คนรู้สึกว่า สุดท้ายแล้วมันก็ฝ่อ และแม้ว่าตอนนั้นเราจะได้รับข้อมูลจากสื่อหรืออะไรต่างๆ ว่าการประท้วงเมื่อปี 2014 ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่เราก็จะเห็นอยู่ว่าในช่วงแรกๆ จะมีอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วหลังๆ ก็เป็นโจชัว หว่อง กับนาธาน เหลา เป็นหลัก จะเห็นว่าคนเหล่านี้แหละที่พยายามจะเป็นคนควบคุมว่าทิศทางในการประท้วงจะไปทางไหน เพราะฉะนั้น การประท้วงมันจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำด้วยกัน อยู่ตรงนี้ด้วยกันไปเรื่อยๆ"

เสวนาฮ่องกงประท้วง
  • ประภาภูมิ เอี่ยมสม

"ปีนี้เขาก็เรียนรู้จากการประท้วงเมื่อปี 2014 ว่าเขาไม่สามารถจะชุมนุมประท้วงยืดยาวกันขนาดนั้นได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะใช้แท็กติกแบบทุกวันนี้ ก็คือเราจะประท้วงกันวันเสาร์อาทิตย์ เสร็จแล้ววันจันทร์ถึงศุกร์ เราก็ไปใช้ชีวิตอะไรของเราไป เสร็จแล้วเสาร์อาทิตย์เราก็มาใหม่ มันก็ทำให้ผู้ชุมนุมไม่ได้เหนื่อยติดต่อกันนานมาก"

ประภาภูมิมองว่า การประท้วงฮ่องกงในครั้งนี้มีการจัดการที่ดีกว่าปี 2014 และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ในระหว่างการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการรับมือว่า ถ้าเจอแก๊สน้ำตาหรือโดนจับกุมควรทำอย่างไร แม้ว่าการประท้วงในครั้งนี้จะไม่มีแกนนำหลักเหมือนอย่างปี 2014

ชาวฮ่องกงที่เข้าร่วมการประท้วงในปี 2019 ใช้วิธีการที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ชูมอตโตที่ได้แรงบันดาลใจจากบรูซ ลี ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า 'จงพลิ้วไหวดุจสายน้ำ' ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครถนัดอะไร ก็สู้ไปแบบนั้น คนที่มีความรู้เรื่องกฎหมายก็ไปแจกใบปลิวบอกวิธีการว่าถ้าผู้ร่วมการประท้วงโดนจับต้องทำอย่างไรบ้าง หรือถ้าใครมีทุนทรัพย์ ก็จะไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยต่างๆ ไปให้กับผู้ชุมนุม ด้วยความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการทำ 'เพื่อฮ่องกง'


ภาพสะท้อน 'ความหวัง' และ 'ความสิ้นหวัง'

การประท้วงฮ่องกงกำลังย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 และบรรยากาศการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกอย่างมาก โดย 'ประภาภูมิ' มองว่า หลังจากที่ตำรวจฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมลูกแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.จึงเป็นชนวนให้ชาวฮ่องกงนับล้านคนออกมาประท้วงในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่สภานิติบัญญัติฮ่องกงมีกำหนดจะพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ

ผู้ชุมนุมหลายรายบอกเล่าว่า จำเป็นจะต้องออกมารวมตัวกัน เพื่อแสดงให้รัฐบาลฮ่องกงเห็นว่า ผู้ประท้วงไม่กลัวว่าจะถูกรัฐบาลปราบ หรือเจอแก๊สน้ำตาแล้วจะฝ่อ แม้ 'แคร์รี หล่ำ' จะออกมาประกาศว่ารัฐบาลจะระงับพิจารณาร่าง ก.ม. ก็ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงยอมถอยแต่อย่างใด เพราะมองว่าเป็นเพียงการระงับร่างกฎหมาย แต่ยังไม่ใช่การถอดถอนอย่างถาวร ทำให้ชาวฮ่องกงออกมาชุมนุมมากกว่าเดิม และสื่อรายงานว่าน่าจะสูงกว่า 2 ล้านคน

เสื้อ Freedom Hi จีเหย่าไฮ ฮ่องกง Hong Kong
  • กลุ่มศิลปินฮ่องกงร่วมประท้วงด้วยการทำเสื้อพิมพ์คำด่าทอของตำรวจที่มีต่อผู้ชุมนุมในช่วงแรก

บรรยากาศการชุมนุมหลังจากรัฐบาลฮ่องกงมีท่าทียอมถอย ทำให้ผู้ชุมนุมค่อนข้างคึกคักมากๆ มีความหวัง และยังมองโลกในแง่ดี แต่ความหวังเหล่านั้นกลายเป็นความสิ้นหวังในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 22 ปี การส่งมอบฮ่องกงคืนจีน และรัฐบาลฮ่องกงไม่มีการตอบสนองอะไรมากกว่านั้นอีก ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งบุกรัฐสภา และเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่หลายคนมองว่าความหวังช่วงกลางเดือนมิถุนายน "มันหมดแล้ว" กลายเป็น "ม็อบนี้ขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวัง"

เมื่อการประท้วงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ และการชุมนุมไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ทั้งยังมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่พอใจกลุ่มผู้ประท้วงออกมาส่งเสียงบ้าง ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่า จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงในการประท้วง อาจต้องใช้อิฐ ใช้ระเบิดเพลิงโต้กลับตำรวจบ้าง เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว

แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ แต่ผู้ชุมนุมทั้งหมดก็ไม่ได้พยายามจะตีตัวออกห่างจากคนที่ใช้ความรุนแรง ต่างกับการประท้วงที่เคยรู้จักในประเทศไทย ที่พอเกิดเรื่องอะไรแบบนี้ขึ้นมาจะมีการบอกว่า "คนนี้ไม่ใช่พวกเรา" แต่ผู้ประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้จะมองว่า "โอเค นี่เป็นความรับผิดชอบของเราร่วมกัน" 


ไม่ฟันธง 'ประท้วงฮ่องกง' จะจบอย่างไร

ผศ.ดร.วาสนา กล่าวในฐานะนักประวัติศาสตร์ว่า การประท้วงที่ฮ่องกงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อนในโลก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเพิ่งเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตบูมกันมาในยุคศตวรรษที่ 21 จึงมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมเกิดขึ้นในการประท้วง เช่น ประท้วงเฉพาะเสาร์อาทิตย์ มีการตั้งหน่วยสกัดที่จะเอาน้ำไปราดแก๊สน้ำตา และการไม่มีแกนนำชัดเจนก็ทำให้ถูกปราบปรามได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นเยอะตามความสร้างสรรค์แต่ละคน แต่ท้ายที่สุดก็ทำให้ควบคุมไม่ได้ ไม่มีใครควบคุมกัน เมื่อผู้ชุมนุมประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภา ทำให้ชาวฮ่องกงอีกหลายคนรู้สึกว่า นี่อาจเป็นความชอบธรรมที่ฝ่ายรัฐจะเข้ามาปราบปราม เพราะว่ามีความรุนแรงและออกนอกกรอบไปแล้ว ซึ่งการปิดสนามบินก็เช่นเดียวกัน คนจำนวนมากทั้งที่อยู่ในฮ่องกงและข้างนอกก็จะมองว่า นี่เป็นการสร้างความเดือดร้อนแล้ว

AFP-ประท้วงฮ่องกง.jpg
  • การประท้วงอย่างสันติในระยะแรก กลายเป็นการใช้ความรุนแรงเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 10 สัปดาห์

ขณะที่ ดร.อาร์ม มองว่า เรื่องที่เป็นชนวนให้การประท้วงยืดเยื้อขนาดนี้เป็นเรื่องของความ 'ไม่เชื่อใจกัน' ระหว่างทั้งสองฝ่าย และข่าวสารข้อมูลที่ได้รับไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ แม้เรื่องจะเริ่มต้นที่กฎหมาย พอผ่านไปสองเดือน ฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงประกาศว่า 'killed' หรือกำจัดกฎหมายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้คำว่า 'ถอดถอน' อย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ประท้วงไม่หยุดคลื่อนไหว เพราะมองว่าเรื่องกฎหมายเป็นแค่ 1 ใน 5 เงื่อนไขที่ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องเท่านั้น

เงื่อนไขอื่นๆ ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องกับทางการฮ่องกง ได้แก่ 2. ไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม 3. เลิกเรียกการชุมนุมว่าเป็นการก่อจลาจล 4. ให้ตั้งกรรมการอิสระของกรมตำรวจมาตรวจสอบว่าตำรวจทำเกินสมควรหรือเปล่าในการจัดการผู้ชุมนุม และ 5. เรียกร้องให้เริ่มกระบวนการปฏิรูประบบเลือกตั้ง แต่ 'แคร์รี หล่ำ' ยืนยัน ไม่ทำตามข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อที่เหลืออย่างแน่นอน โดยระบุว่า "จะต้องรักษากฎหมายของฮ่องกงเอาไว้"

ในฝั่งของผู้ชุมนุม ประภาภูมิสะท้อนว่า การประท้วงที่ไม่มีแกนนำจะทำให้หยุดยั้งได้ยาก แต่ผู้ประท้วงจำนวนมากชอบการเคลื่อนไหวแบบนี้ ชอบการที่ไม่มีแกนนำ ถ้าใครคิดว่าจะทำอะไรได้ ก็ทำไปเลย เน้นการดูหน้างาน เพราะปี 2014 ก็พิสูจน์มาแล้วว่า พอเชื่อแกนนำ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร และผลพิสูจน์ที่หนักมากๆ ก็คือตอนที่เลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว 'พรรคเดโมซิสโต' ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งก่อตั้งโดยแกนนำการประท้วงร่มเมื่อปี 2014 ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายได้เหมือนอย่างที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก

AFP-ผู้ประท้วงฮ่องกงต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาในวันครบรอบ 22 ปีอังกฤษคืนฮ่องกงให้จีน-1.jpg
  • การบุกรัฐสภาฮ่องกงเป็นจุดเปลี่ยนด้านภาพลักษณ์ของการประท้วงต่อต้านร่าง ก.ม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
AFP-ผู้ประท้วงฮ่องกงต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาในวันครบรอบ 22 ปีอังกฤษคืนฮ่องกงให้จีน-4.jpg

'โจชัว หว่อง' แกนนำการประท้วงร่มปี 2014 ทวีตข้อความเมื่อผู้ประท้วงบุกรัฐสภา โดยระบุว่า แม้เขาจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย แต่ก็นับถือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เพราะรู้ว่าเข้าไปแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งหมายถึงผลที่จะตามมาในแง่ของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อหาแกนนำการชุมนุมเมื่อปี 2014 ค่อนข้างเบากว่าครั้งนี้มาก เพราะการประท้วงครั้งนี้เริ่มขึ้นได้ไม่นาน 'แคร์รี หล่ำ' และรัฐบาลฮ่องกงก็ออกมาระบุชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมเหล่านี้เป็นผู้ก่อการจลาจล และไม่ได้มองว่าเป็นการประท้วงทั่วๆ ไป แต่มองว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย ซึ่งถ้าจะดำเนินคดีกันจริงๆ จะโดนโทษหนักมาก

คนที่เคยเคลื่อนไหวเป็นแกนนำในการประท้วงร่มก่อนหน้านี้ เช่น 'เอเวอรี่ อึง' ออกมาพูดตลอดว่าการชุมนุมไม่ควรจะใช้ความรุนแรงหรือทำลายทรัพย์สินของรัฐบาลไปมากกว่านี้ เนื่องจากสุดท้ายแล้ว คนที่จะเสียก็คือผู้ประท้วงเอง แต่ไม่เป็นผลมากนัก เพราะผู้ชุมนุมครั้งนี้ไม่ต้องการฟังใครในฐานะแกนนำ และพร้อมจะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองต่อไป แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร


เงื่อนไขสำคัญทางการเมือง 'ต้องรักทั้งจีนและฮ่องกง'

ผศ.ดร.วาสนา ระบุว่ารัฐบาลปักกิ่งเขียนอย่างชัดเจนในมาตรา 45 และ 68 ของธรรมนูญของฮ่องกง ซึ่งครอบคลุมการปกครองฮ่องกงในช่วง 50 ปีหลังกลับคืนสู่จีน โดยกำหนดว่า จุดหมายปลายทางการปกครองฮ่องกงต้องอยู่ที่ universal suffrage ซึ่งหมายถึงการผลักดันให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่กลับไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะไปถึงจุดนั้นในปีไหน ด้วยเหตุนี้ 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' จึงกลายเป็นความไม่ชัดเจน 

ก่อนหน้านี้ในปี 2007 สภาประชาชนแห่งชาติจีนเคยบอกว่า การเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงในปี 2017 อาจจะใช้ระบบ universal suffrage แต่ปี 2014 เกิดการประท้วงร่มในฮ่องกง เพราะไม่พอใจที่จีนกำหนดว่าจะให้ชาวฮ่องกงเลือกตั้งผู้บริหารได้ แต่กลับมีเงื่อนไขว่าแคนดิเดตต้องผ่านการคัดเลือกของจีนก่อน ทั้งยังมีเงื่อนไขว่าแคนดิเดตจะต้อง "รักทั้งจีนและฮ่องกง" จึงมองว่านี่ไม่ใช่การเลือกอย่างเสรี

ธงฮ่องกง
  • ธงฮ่องกงที่ชักขึ้นสู่ยอดเสาจะต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธงจีน

ส่วนการเลือกตั้งฮ่องกงที่ผ่านมาเป็นการเลือกผ่านคณะกรรมการเลือกตั้ง 2,000 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้มีอิทธิพลที่เลือกแคนดิเดตเหล่านี้มา จึงมีประเด็นเรื่องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง และเป็นสาเหตุที่คนฮ่องกงไม่เชื่อมั่นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ เพราะมองว่า สุดท้ายแล้วผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลปักกิ่งอยู่ดี

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ สมัยของอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ซึ่งเป็นผู้นำจีนช่วงปี 2003-2013 ฮ่องกงยังไม่เคยมีการเลือกตั้งก็จริง แต่ถือว่ามีเสรีภาพค่อนข้างมาก มีภาคประชาสังคมที่แอกทีฟ และกฎหมายฮ่องกงปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรายงานข่าว และการประท้วงที่ดำเนินไปอย่างสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่มี

อย่างไรก็ตาม หลังยุคหูจิ่นเทา บรรยากาศของจีนแผ่นดินใหญ่มีความชาตินิยมและอนุรักษนิยมกว่าเดิม และในฮ่องกงก็มีคนที่ถูกมองจากรัฐบาลจีนว่าเป็นพวก 'หัวรุนแรง' มากขึ้น เพราะมีความคิดจะแยกประเทศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: