ไม่พบผลการค้นหา
แม้กฎหมายรับรองการสมรสของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่ขบวนการ LGBT ในหลายประเทศต่างออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง แต่นักวิเคราะห์มองว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้คู่รักเพศเดียวกันเลือกที่จะไม่จดทะเบียนสมรส หรือแม้ว่าสมรสแล้วก็อาจหย่าร้าง สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การทำให้การครองคู่ของคู่รักเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่สังคมรู้สึกคุ้นชิน

เว็บไซต์ The Economist เผยแพร่บทความพิเศษเรื่อง "เราต้องชินกับการครองคู่ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน" (Getting used to gay unions) ซึ่งเสนอว่า แม้ในหลายประเทศการออกกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน จะยังคงเป็นที่ถกเถียงระหว่างกลุ่มคนที่มีจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม กับกลุ่มคนที่มองว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อบรรทัดฐานของสังคมและทำให้เด็กเกิดความสับสน แต่การถกเถียงก็ไม่ควรยุติอยู่ที่ประเด็นเรื่องกฎหมายเท่านั้น แต่สังคมควรชินและยอมรับกับการครองคู่ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

บทความชิ้นนี้ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่มีการผ่านกฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันเมื่อปี 2014 แต่จำนวนคู่รักที่จัดพิธีวิวาห์ในปี 2015 กลับมีน้อยกว่า 6,000 คู่ ต่ำกว่าที่รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าไว้ที่ 9,000 คู่ นอกจากนี้ ผลสำรวจอัตราการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในสหรัฐฯ ยังพบว่า มีคู่รักเพศเดียวกันเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่จดทะเบียนแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่คู่รักเพศเดียวกันส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งยังไม่สนใจเรื่องแต่งงาน

Australia Gay Marriag_Rata.jpg

ชาวออสเตรเลียเดินขบวนสนับสนุนกฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบอัตราการสมรสกับอัตราการหย่าร้างของคู่รักเพศเดียวกันแล้ว จะพบว่าในอังกฤษ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่างมีกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันพบว่า อัตราการสมรสระหว่าง คู่หญิงรักหญิงสูงกว่าคู่ชายรักชายมาก แต่อัตราการหย่าร้างระหว่างคู่หญิงรักหญิงก็สูงกว่าคู่ชายรักชายเช่นเดียวกัน เช่นในเนเธอร์แลนด์ ที่มีการผ่านกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันเมื่อปี 2001 พบว่าคู่หญิงรักหญิงที่สมรสกันในปี 2005 และยังใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในปี 2016 มีเพียงร้อยละ 69.6 เท่านั้น ขณะที่อัตราการอยู่ร่วมกันของคู่รักต่างเพศอยู่ที่ร้อยละ 82.1 และคู่ชายรักชายร้อยละ 84.5

บทความชิ้นนี้จึงเสนอว่า สิ่งที่สำคัญไปกว่ากฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน คือ การทำตัวให้เคยชินกับการครองคู่ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน เพราะในหลายประเทศที่ยังไม่มีการออกกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ได้มีกฎหมายรับรองสถานะคู่รักที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส (Unmarried Partnership) ซึ่งในบางประเทศ คู่รักเพศเดียวกันนิยมขอสถานะเช่นนี้มากกว่าสถานะคู่สมรส เนื่องจากพวกเขามองว่ามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องจัดพิธีแต่งงานที่หรูหราฟุ่มเฟือย เช่นที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2016 คู่รักเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามถึงร้อยละ 19 นิยมขอสถานะคู่รักที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนหน้า ที่มีคู่รักขอสถานะนี้เพียงร้อยละ 9 เท่านั้น

ภาพ: AFP