ไม่พบผลการค้นหา
สรุปสาระสำคัญและความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.62

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่ 2 ที่เริ่มประชุมเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ได้รับทราบ "รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 (เม.ย.-มิ.ย.62)" ความยาว 282 หน้า

รายงานดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้

ปฏิรูปอืด รอดำเนินการ 974 แผน จาก 1,229 แผน

รายงานฉบับดังกล่าวให้รายละเอียดถึงความคืบหน้าของแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน ในรอบ 3 เดือนล่าสุด ซึ่งแบ่งเป็น "ประเด็นการปฏิรูป" รวม 173 ประเด็น และ "ประเด็นย่อย-กิจกรรม" รวมทั้งหมด 1,229 กิจกรรม ซึ่ง "กิจกรรม-ประเด็นย่อย" นั้นสามารถแบ่งเป็นผลของสถานะการดำเนินการ 4 ระดับ ดังนี้

1) ดำเนินการแล้วเสร็จ รวม 121 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10 ยกเว้นการปฏิรูปด้านการเมือง ที่ยังไม่มีกิจกรรมใดแล้วเสร็จ ซึ่งทั้งหมด 18 กิจกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจดำเนินการแล้วเสร็จ 28 กิจกรรม

2) อยู่ระหว่างดำเนินการ 974 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79 โดยการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ มากที่สุดที่ 302 เรื่อง จากกิจกรรมที่หนดไว้ทั้งหมด 325 เรื่อง

3) ดำเนินการช้ากว่าแผน 92 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 8 จาก 6 ด้าน คือ ด้านสาธาณสุข 37 เรื่อง ด้านเศรษฐกิจ 28 เรื่อง ด้านกฎหมาย 15 เรื่อง ด้านพลังงาน 10 เรื่อง และด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ด้านสังคม อย่างละ 1 เรื่อง

4) ต้องปรับปรุง ทั้งหมด 42 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 3 จาก 6 ด้านคือ ด้านกฎหมาย 22 เรื่อง ด้านพลังงาน 5 เรื่อง ด้านเศรษฐกิจ 6 เรื่อง ด้านสื่อสารมวลชนฯ 5 เรื่อง ด้านสาธารณสุข 2 เรื่อง และด้านการปราบปรามทุจริตฯ 1 เรื่อง

12 ด้าน มุ่งแต่สังคม - แต่การเมืองไร้ความคืบหน้า - ชงกฎหมาย 221 ฉบับ

เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน พบว่า

ด้านสังคม คืบหน้ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ร้อยละ 25 ด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 23 ด้าน กระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 21 ด้านสื่อสารมวลชน ร้อยละ 13 ด้านพลังงานร้อยละ 8 ด้านกฎหมาย ร้อยละ 8 ด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ ร้อยละ 7 ด้านการปราบปรามทุจริตฯ ร้อยละ 6 ด้านสาธารณสุข กับด้านการศึกษา เท่ากันที่ ร้อยละ 3

ส่วนด้านการเมืองนั้น ไม่คืบหน้าเลย ซึ่งภาพรวมความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อย 10

สำหรับการผลักดันกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้มีการจัดทำขึ้นใหม่ ปรับปรุงกฎหมายเดิม หรือออกอนุบัญญัติ นั้นมี ทั้งสิ้น 221 ฉบับ จำแนกเป็น 2 กลุ่มคือ 1) พ.ร.บ. หรือกฎหมายว่าด้วย 202 ฉบับ แล้วเสร็จ 42 ฉบับ ด้านการทรัพยากรธรรมชาติ ผลักดันได้มากสุดที่ 13 ฉบับ 2)พ.ร.ฎ. กฎกระทรวง หรือระเบียบ 19 ฉบับ แล้วเสร็จ 3 ฉบับ รวมทั้ง 2 ประเภท ผลักดันแล้วเสร็จ 45 ฉบับ

ประยุทธ์-กลาโหม

กางแผนเสริมสร้างประชาธิปไตย แต่แจ้งจับฝ่ายค้าน

เมื่อลงรายละเอียด ประเด็นย่อย-กิจกรรม ก็จะพบประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ด้านการเมือง ที่ไม่มีความคืบหน้าเลย เช่น ประเด็นปฏิรูปที่ 1 ประเด็นย่อยที่ 3 การเสริมสร้างประชาธิปไตย "แบบปรึกษาหารือ" (Deliberative Democrasy) และกลไกในการดูแลเสียงข้างน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทว่าจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดยุค คสช. กระทั่งหลังการเลือกตั้ง การระดมสมองจัดเสวนาวิชาการหรือเวทีถกแถลง จากฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐ ยังคงมีการดำเนินคดี จับกุมคนเห็นต่างอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดเวทีถกแถลงของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ร่วมกับนักวิชาการ ยังถูกข้าราชการประจำ อย่าง กอ.รมน. แจ้งความตาม มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น 

ประเด็นปฏิรูปที่ 4 การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ประเด็นย่อยที่ 2 การป้องกันการทุจริตเลือกตั้งและการซื้อสิทธิขายเสียง ในข้อเท็จจริงช่วงการเลือกตั้งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ถึงเสียงวิจารณ์การใช้เงินจากผู้ที่ควบคุมกลไกรัฐอย่างโฉ่งฉ่าง ทว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบ สามารถตรวจสอบและนำไปสู่การเลือกตั้งซ่อมเพียง 1 เขต และไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่า การตรวจสอบข้อร้องเรียนการทุจริตเขตเลือกตั้งอื่นเป็นอย่างไร ดำเนินการส่งศาลพิจารณาวินิจฉัยไปแล้วเท่าใดบ้าง

กาบัตรสะอาด ไล่บี้ “ธนาธร”

เช่นเดียวกับประเด็นย่อยที่ 3 การตรวจสอบค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองอย่าง อนาคตใหม่ ที่เปิดเผยรายรับรายจ่าย ที่มีการกู้หนี้ยืมสินตามหลักบัญชี กำลังโดนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบฐานเจ้าของพรรคปล่อยเงินกู้ ส่วนพรรคหน้าใหม่อีกพรรรค จัดโต๊ะจีน ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจบริจาคแต่ไม่สามารถเอาผิดได้

ยัดชื่อ “ประชารัฐ” กำกับแผน

ขณะเดียวกันยังพบแผนงานและกิจกรรมที่ใช้ชื่อ "ประชารัฐ" คล้ายกับพรรคเมืองหนึ่งอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งก็ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า สุดท้ายแล้วแผนการปฏิรูปประเทศนี้คือของส่วนรวม หรือมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเป็นเจ้าของ เช่น ด้านเศรษฐกิจ มีแนวทางการสร้างแพลตฟอร์ม "ประชารัฐ" จับคู่เอกชนที่ทำ CSR ด้าน ทรัพยากรธรรมชาติฯ มีแผน ขยายศูนย์อนุุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น ให้ครบทุกตำบล ตามแนวทาง "ประชารัฐ" แนวคิดสร้างกลไกผลักดันวิถีการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนตามกลไก"ประชารัฐ" ด้านสังคม มีโครงการจิตอาสา "ประชารัฐ" เพื่อสังคม

“กองทัพ” คุม “ทรัพยากร - พลังงาน”

ส่วน "กองทัพ" ที่ไม่ได้รับการปฏิรูปตามกระแสเรียกร้องนั้น พบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านที่เกี่ยวกับ "สมบัติของชาติ" ในด้าน ทรัพยากรธรรมชาติฯ มี "กองทัพบก" เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการดังนี้ 1.ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับน้ำใต้ดิน 2.สร้างกลไกเชื่อมโยงให้น้ำใต้ดินและบนดินเกิดความสมดุล 3.ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลน้ำใต้ดิน 4.ผลักดันการนำระบบเติมน้ำใต้ดินมาใช้ 5.รณรงค์การบริหารจัดการน้ำใต้ดิน

ส่วนด้านพลังงาน "กองบัญชากรกองทัพไทย" เป็นเจ้าภาพร่วม คอยรับผิดชอบดำนเนินการในแหล่งพัฒนาที่ซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา

ชงตั้ง สนง. – คกก. เพียบ พ่วงตั้งกก.ปฏิรูปซ้อนปฏิรูป

ไม่เพียงแค่ไร้ความคืบหน้าและเต็มไปด้วยข้อเสนอการออกกฎหมาย แผนปฏิรูปประเทศยังพบการผลักดันเพื่อจัดตั้ง หน่วยงานและกรรมการ เพื่อกำกับดูแลงานแต่ละด้านอีกนับ 10 หน่วยงาน ซึ่งมีความซ้ำซ้อน และตลอดช่วงปฏิรูปตามข้ออ้างนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น ด้าน การปฏิรูปกฎหมาย ระยะ 5 ปี มีแผนจัดทำกฎหมายจัดตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน" ตาม ร่างพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ซึ่งก็ทำให้น่าสนใจว่า จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมปฏิรููปซ้อนการปฏิรูปไปเพื่อเหตุใด นอกจากนี้ยังมีแผนระยะ 3 ปี เพื่อจัดตั้งศาลหรือแผนก เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจราจร พาณิชย์ เพิ่มขึ้นด้วย

ด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มีแผนระยะยาวจัดตั้ง สถานบันวิชาการป้องกันแลปราบปรามการทุจริตเป็นการเฉพาะ ซึ่งไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่า จะใช้เวลาเท่าใด หรือในหลักสูตรจะมีวิชา นิติประเพณี ด้วยหรือไม่

ทั้งหมดคือแผนปฏิรูปที่ประชาชนไม่ได้ร่วมกำหนด และไม่มีใครรับรู้อนาคตที่่สวยหรูจากกระดาษกว่า 300 หน้า จะมาถึงเมื่อใด