ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต" เผยเตรียมทบทวนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบุอาจถึงขั้นเสนอยกเลิกไปปรับปรุงใหม่ทั้งฉบับ หากพบไม่เป็นธรรมกับประชาชนโดยส่วนรวม

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563 นี้ ตนได้นำ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ซึ่งผ่านเป็นกฎหมายในสมัย สนช. เข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมาธิการ ฯ ที่มีตนเป็นประธานเพราะมีข้อร้องเรียนมากมาย ทั้งจากประชาชนผู้เสียภาษี ทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะหน่วยปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีในเบื้องต้น ได้พบข้อบกพร่องหลายประการ อาทิ

 1. ความไม่พร้อมในการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งเลยระยะเวลามาถึง 5 เดือนเศษ (10 กรกฏาคม 2562) ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีไม่ทราบรายละเอียด หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ส่งผลให้กระทรวงมหาดไทยต้องประกาศขยายเวลาดำเนินการตามกฎหมาย จากเดิมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ออกไปก่อน ตามหนังสือสั่งการ ด่วนที่สุด ที่มท 0808.3/ว 7475 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2562

2. สาระของ พ.ร.บ.มีปัญหาในการตีความ ตั้งแต่คำนิยาม "สิ่งปลูกสร้าง" "ผู้เสียภาษี" และประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะหลักคิดที่ว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน หรือจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หากกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

 3. การมีกฎหมายการเก็บภาษีใหม่ ทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้มาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ทั้งมีแนวโน้มว่าปัญหาเศรษฐกิจจะยิ่งจมลึกไปเรื่อย ๆ ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ

เห็นได้จาก คนจนเพิ่มขึ้น ๆ จนเกือบจะถึง 20 ล้านคน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คนตกงานเพิ่มขึ้น บริษัท ห้างร้านปิดกิจการเพิ่มขึ้น หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขยายตัว ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในขณะที่เกิดปัญหาสังคมมากมายโดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ

ดังนั้น การออกกฎหมายเก็บภาษีประชาชนท่ามกลางความเดือดร้อนในปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะยิ่งสร้างความระส่ำระสายในหมู่ประชาชนที่เดือดร้อนในปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของตนเองอย่างหนักอยู่แล้ว ยังจะมาซ้ำเติมด้วยการเก็บภาษีอีก นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตวิทยาในหมู่ประชาชนอย่างยิ่ง 

คณะอนุกรรมาธิการ ฯ จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบ รอบด้าน ทั้งการรับฟังความเห็นจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังผู้เสนอออกกฎหมาย ทั้งจากประชาชนผู้เสียภาษี และการรับฟังความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติ แล้วนำผลที่ได้จากการศึกษารายงานขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการสามัญ ฯ เพื่อรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมีข้อสังเกตไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติตามข้อสังเกตต่อไป   

ทั้งนี้ หากพบว่ากฎหมายฉบับนี้มีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะเกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนโดยส่วนรวม และกระทบกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจถึงขั้นเสนอให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เพื่อนำไปปรับปรุงใหม่ทั้งฉบับต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง