ไม่พบผลการค้นหา
บทสัมภาษณ์ Exclusive 'รมว.ศึกษาฯ เล่าเรื่องเมืองไทย "อย่างหนา" กับคนครอง "นาฬิกาหรู ...ไม่ลาออก" บนเวบไซต์ข่าวบีบีซีไทย เป็นประเด็นสั่นสะเทือน ครม. ก่อนเรื่องจะจบลงที่ รมว.ศึกษาฯ ออกมาขอโทษผู้ถูกพาดพิง

การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (13 ก.พ.) ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หลังจากที่เว็บไซต์บีบีซีไทยเผยแพร่บทสัมภาษณ์จั่วหัวชัดเจนว่า 'Exclusive' พร้อมระบุชื่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถากับกลุ่มนักเรียนและนักธุรกิจไทยในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยพาดพิงถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีครอบครอง 'แหวนมารดา' และ 'นาฬิกาเพื่อน'

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวอ้างอิงคำพูดของ นพ.ธีระเกียรติ ซึ่งระบุว่า "เรื่องนาฬิกา ถ้าผมถูก exposed (เปิดเผย) เรือนแรก ผมก็ออกแล้ว อันนี้ถามผมนะ ส่วนใครจะว่าอะไร ให้ไปถามคนนั้น ของอย่างนี้ คนก็ไม่กล้าพูด กลัวอะไร ทำไม พูดแล้ว มันจะมาไล่ผมออกหรือ"

เป็นวาทะเด็ด ส่งไม้ต่อให้สื่อมวลชนในไทยรายงานว่า บทสัมภาษณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลได้ แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อ นพ.ธีระเกียรติ หรือ 'หมอธี' แถลงยอมรับ ในช่วงบ่ายวันนี้ (13 ก.พ.) ว่าตนเองนั้น 'ผิดมารยาท' ที่กล่าวพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 ยอมรับว่า เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน และได้เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อกล่าวขอโทษแล้ว

พร้อมย้ำว่า ตอนคุยกับผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย "ไม่ทราบว่ามีการอัดเทป" จึงถือว่า "ไม่ได้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ" แต่ก็ยอมรับว่าคู่สนทนาได้แสดงตัวเป็นผู้สื่อข่าวให้ทราบตั้งแต่แรก

000_WP27Z.jpg

กรณีคุยกับนักข่าวแต่ไม่รู้ว่าบันทึกเสียงนี้ ทำให้มีคำถามถึงการทำงานของสื่อมวลชนว่า การเผยแพร่บทสัมภาษณ์โดยที่แหล่งข่าวไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียง เป็นการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่?

ประเด็นนี้ หากพิจารณาข้อเท็จจริงว่า บทสัมภาษณ์ นพ.ธีระเกียรติ เกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน และบีบีซีไทยเป็นสื่อในสังกัดของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร หากจะร้องเรียนกรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ ระบุว่า "ไม่ทราบว่าถูกบันทึกเสียง" อาจจะต้องยื่นเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการรับเรื่องร้องเรียนสื่อมวลชนแห่งสหราชอาณาจักร (PCC) 

อย่างไรก็ตาม เคยมีแหล่งข่าวรายหนึ่งร้องเรียนกับ PCC เมื่อปี 2554 ว่าถูกผู้สื่อข่าวของ เดอะการ์เดียน สื่อชื่อดังอีกแห่งหนึ่งของอังกฤษ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการปลูกกัญชงในประเทศ โดยมีการระบุชื่อของแหล่งข่าวชัดเจน แต่ผู้สื่อข่าวไม่แจ้งให้ทราบว่ามีการบันทึกบทสนทนา แหล่งข่าวจึงไม่คิดว่าบทสนทนาจะถูกนำไปเผยแพร่ แต่ PCC ตัดสินเป็นคุณกับผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียนมากกว่าแหล่งข่าวผู้ร้องเรียน โดยให้เหตุผลว่า หากผู้สื่อข่าวแจ้งให้ทราบแต่แรกว่ากำลังรวบรวมข้อมูลและขอสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ ให้อนุมานว่าจะมีการบันทึกบทสนทนาเอาไว้เพื่อไปเสนอข่าว และไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 

ส่วนหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณที่สื่อมวลชนอังกฤษต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดตามมติของ PCC ระบุว่า ข้อมูลที่นำเสนอจะต้องไม่ใช่ "ข้อมูลเท็จ ข้อมูลชี้นำ และข้อมูลที่บิดเบือน"

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ว่า จริยธรรมวิชาชีพของสมาคมฯ มี 6 ข้อ โดยข้อที่ 4 ระบุว่านักข่าวจะต้อง "เคารพในความไว้วางใจของผู้ให้ข่าว และรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว" จึงอาจต้องถกเถียงกันอีก กรณีดังกล่าว บีบีซีไทยควรต้องรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าวหรือไม่

Untitled-1-Recovered.jpg

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ ถือเป็นบุคคลสาธารณะ ในฐานะรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบหน้าที่สำคัญระดับประเทศ การให้สัมภาษณ์หรือกล่าวพาดพิงถึงประเด็นต่างๆ ย่อมจะอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนเป็นธรรมดา

เหตุการณ์เช่นนี้ หากเทียบกับในอดีต เคยมีกรณีรัฐมนตรีกล่าวติดตลกนอกรอบการหารือประเด็นด้านสุขภาพ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนัก กรณีนายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงปี 2551 ตอบคำถามของเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง เรื่องจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขสมัยนั้น ประกาศว่าจะทบทวนเรื่องสิทธิบัตรยา และอาจจะส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่จำเป็น โดยนายไชยาบอกตัวแทนเครือข่ายว่า "งั้นก็ไปกินดอกไม้จันทน์สิ"  

ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รายงานเรื่องที่เกิดขึ้น และทำให้สังคมตั้งคำถามกับจุดยืนของ รมว.สาธารณสุข ว่าคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ป่วยที่ต้องได้รับยามากน้อยเพียงใด และเพราะเหตุใดจึงพูดถึงดอกไม้จันทน์ที่เกี่ยวข้องกับงานศพ หลังจากนั้น ยังมีการออกคำสั่งย้ายข้าราชการที่คัดค้านการทบทวนเรื่องสิทธิบัตรยา ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าชื่อยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรถอดถอนนายไชยาออกจากตำแหน่ง

ประกอบกับในเวลานั้น พบว่า นายไชยาไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนางจุไร สะสมทรัพย์ ผู้เป็นภรรยา ภายใน 30 วันนับจากการเข้ารับตำแหน่งฯ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในภายหลังว่านายไชยามีเจตนาปิดบังบัญชีทรัพย์ และเป็นเหตุให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีในเดือน ก.ค. 2551

หากย้อนกลับมาที่คำปราศรัยของ นพ.ธีระเกียรติ ซึ่งเตือนนักเรียนนักศึกษาไทยในลอนดอนให้ตระหนักว่า "เมื่อจบการศึกษากลับไปทำงานที่ประเทศไทยแล้ว การบังคับใช้กฎหมายของไทย และสำนึกของนักการเมืองและผู้บริหารประเทศยังต่างจากของอังกฤษ การยึดหลักนิติธรรม (rule of law) ยังไม่เกิดขึ้นจริง" ถือเป็นความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจต่อสภาพสังคมไทย

จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ เพราะผู้พูดคือหนึ่งใน ครม. ดังนั้น ความเห็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สาธารณชนควรได้รู้

อ่านเพิ่มเติม: