ไม่พบผลการค้นหา
ก.ต.ท.เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (high yield bond) เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องภายใต้สถานการณ์โควิด-19

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ครั้งที่ 13/2563 ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุน high yield bond ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ high yield bond ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ (bridge financing) สร้างสภาพคล่องและเสถียรภาพให้กับตลาดตราสารหนี้ high yield bond รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนรายใหญ่เปลี่ยนมาลงทุนผ่านมืออาชีพแทนการลงทุนโดยตรงในตราสารดังกล่าว

ในเรื่องนี้ การประชุมคณะกรรมการ ก.ต.ท. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2563 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุน high yield bond และ ก.ล.ต. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2563

สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนและกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมได้มีข้อสรุป ดังนี้

(1) กำหนดประเภทผู้ลงทุน โดยเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น

(2) สามารถจัดตั้งในรูปแบบกองทุนรวมหรือกองทรัสต์ (โดยจัดตั้งภายในปี 2564)

(3) กำหนดอายุกองทุนไม่น้อยกว่า 2 ปี และเป็นกองทุนปิด (non-redeemable) ซึ่งระหว่างทางผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่สามารถขอไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ก่อนครบอายุโครงการ โดยสามารถกำหนดเงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ[1] (auto redemption) และเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมได้

(4) สามารถลงทุนใน high yield bond[2] ซึ่งไม่มีประเด็นเชิงลบเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) สามารถลงทุนได้ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่กองทุนรวมตราสารหนี้สามารถลงทุนได้ และห้ามลงทุนในตราสารหนี้ด้อยคุณภาพ (distressed bond)

(5) มีการกระจายการลงทุนโดยสามารถลงทุนหุ้นกู้ของบริษัทผู้ออกรายใดรายหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของ NAV ณ วันที่ลงทุน

(6) ยกเว้นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการกระจุกตัวในการลงทุนของมูลค่าการเสนอขายตราสารหนี้และ/หรือภาระหนี้สินของกิจการที่ลงทุน (concentration limit)

(7) กระบวนการเสนอขายจะต้องมีความรัดกุมเทียบเท่าการขายตราสารที่มีความเสี่ยงสูง และเปิดเผยความเสี่ยงอย่างชัดเจน

(8) กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้ออกตราสารหนี้นำเงินที่ระดมได้ไปชำระหนี้หุ้นกู้เดิม หรือใช้ในการดำเนินธุรกิจโดยต้องชำระหนี้หุ้นกู้เดิมเป็นลำดับแรก และจะกำหนดให้มีกลไกบริหารจัดการหรือติดตามการใช้เงินให้เป็นไปตามเงื่อนไข

“การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจะจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนใน high yield bond สามารถดำเนินการได้ในกรอบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และหากมีการจัดตั้งขึ้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ผู้ลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตลาดทุนและภาวะเศรษฐกิจ” น.ส.รื่นวดี กล่าว


Photo by Micheile Henderson on Unsplash


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :