ไม่พบผลการค้นหา
มาเลเซียห้ามผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมเข้าประเทศเพิ่มเติม หลังพบหญิงวัย 83 ปีติดไวรัสโควิด-19 แม้กัมพูชายืนยันว่าตรวจคัดกรองผู้อยู่บนเรือทุกคนแล้ว ส่วนผู้อยู่บนเรือเวสเตอร์ดัมเดินทางมาไทย 44 ราย ช่วง 14-16 ก.พ.

วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศห้ามผู้โดยสารจากเรือสำราญ 'เวสเตอร์ดัม' เดินทางเข้าประเทศอีก หลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเลเซียพบหญิงอเมริกันวัย 83 ปี ซึ่งเดินทางจากจังหวัดสีหนุวิลล์ในกัมพูชามาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 และถูกส่งตัวไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลในกรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว

รองนายกฯ มาเลเซียยังได้กล่าวตอบโต้รัฐบาลกัมพูชา ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องมาเลเซียให้ตรวจสอบผู้ติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง ให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด โดยกัมพูชาย้ำว่าได้ตรวจคัดกรองผู้โดยสารบนเรือสำราญเวสเตอร์ดัมอย่างถี่ถ้วน "ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก" ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือดูแลจากตัวแทนสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) อีกด้วย โดยรองนายกฯ มาเลเซียยืนยันผลตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ยังคงบ่งชี้ว่าผู้โดยสารคนดังกล่าวติดเชื้อจริง และย้ำว่ามาตรฐานการแพทย์ของมาเลเซียถือว่า "ได้มาตรฐานระดับโลก" เช่นกัน

ขณะที่บริษัท 'ฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์' (HAL) ผู้บริหารกิจการเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ผู้โดยสารชาวอเมริกันคนดังกล่าว ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จริง แต่มีไข้และล้มป่วยหลังจากขึ้นฝั่งที่สีหนุวิลล์ เมืองท่ากัมพูชา เมื่อวันที่ 14 ก.พ. และเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ (KLIA) ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ซึ่งจัดหาโดย HAL และตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ

เนื้อหาในแถลงการณ์ HAL ลงวันที่ 16 ก.พ. ระบุด้วยว่า ทางบริษัทจะติดตามอาการของทั้งผู้โดยสารและลูกเรือที่เดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้วเพิ่มเติม โดยจะประสานงานกับองค์การอนามัยโลก (WH0) รัฐบาลมาเลเซีย กัมพูชา และสหรัฐฯ เพื่อแจ้งข้อมูลคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไปในกรณีที่พบผู้ติดเชื้ออีก

AFP-westerdam-เรือสำราญเวสเตอร์ดัมเทียบท่าสีหนุวิลล์

ผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัม ไปไหนต่อ?

เรือสำราญเวสเตอร์ดัมเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเพราะถูกปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าจาก 5 ประเทศและเขตปกครอง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น กวม และไทย เพราะเกรงว่าจะพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเรือเทียบท่าที่ฮ่องกงพร้อมรับผู้โดยสารเพิ่มราว 800 คนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แรกๆ นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และพบการแพร่ระบาดจากคนสู่คน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาประกาศให้เรือเทียบท่าที่สีหนุวิลล์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. พร้อมระบุว่าจะดำเนินการตรวจคัดกรองผู้อยู่บนเรือทั้งหมดอย่างละเอียด แต่กัมพูชากลับไม่ได้กักตัวผู้อยู่บนเรือเพื่อดูอาการเพิ่มเติม แต่ประกาศเพียงว่าผู้อยู่บนเรือไม่มีอาการป่วย หรือมีไข้ และวันที่ 14 ก.พ.ถือว่าครบกำหนดระยะฟักตัว โดยวัดจากวันที่ 1 ก.พ.ซึ่งเรือออกจากฮ่องกง จึงอนุญาตผู้อยู่บนเรือขึ้นฝั่ง และประสานความร่วมมือไปยังสถานทูตต่างๆ ให้มาดูแลพลเมืองของประเทศตนที่อยู่บนเรือลำดังกล่าว

แถลงการณ์ของ HAL ระบุว่า ผู้โดยสารที่อยู่บนเรือซึ่งเทียบท่าสีหนุวิลล์ตอนแรก มีทั้งหมด 1,455 คน และลูกเรือ 802 คน แต่วันที่ 16 ก.พ. มีผู้โดยสารอยู่บนเรือแค่ 233 คน และลูกเรือ 747 คน ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือที่ขึ้นฝั่งไปแล้ว เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ เพื่อกลับภูมิลำเนาต่อไป

ทั้งนี้ ผู้โดยสาร 145 ราย เดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำไปที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเมื่อ 14-15 ก.พ. โดย 137 ราย เดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์ก่อนผลตรวจร่างกายผู้โดยสารชาวอเมริกันที่ติดเชื้อจะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

รัฐบาลมาเลเซียจึงไม่สามารถติดตามสอบถามได้ว่าผู้โดยสารที่เดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้วมีโอกาสสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวหรือไม่ ส่วนผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัมที่ยังตกค้างอยู่ที่มาเลเซียมีอยู่ทั้งหมด 7 คน แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองประเทศใด

นอกจากนี้ยังมีผู้โดยสารและลูกเรือเวสเตอร์ดัมซึ่งเดินทางมายังไทย 44 ราย แบ่งเป็นชาวไทย 2 ราย และชาวต่างชาติ 42 ราย โดยกลุ่มแรกมีทั้งหมด 35 ราย เป็นคนไทย 1 ราย ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ เดินทางมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 14 ก.พ.

กลุ่มที่สองมี 9 ราย เป็นชาวไทย 1 ราย และชาวต่างชาติ 8 ราย เดินทางมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 16 ก.พ. แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ตรวจคัดกรองแล้ว ไม่มีไข้ ชาวต่างชาติทั้งหมดเดินทางกลับประเทศ ส่วนคนไทยจะดูแลติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค โดยจะติดตามอย่างต่อเนื่องจนครบระยะ 14 วัน

AFP-westerdam-ฮุนเซนต้อนรับผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมเทียบท่าสีหนุวิลล์

ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือเวสเตอร์ดัมซึ่งขึ้นฝั่งที่สีหนุวิลล์ก่อนหน้านี้ 1,266 คน 'ไม่อาจระบุปลายทางที่ชัดเจนได้' เพราะ HAL จัดเครื่องบินเช่าเหมาลำและรถบัสหลายเที่ยว ทยอยส่งผู้โดยสารบนเรือไปต่อเครื่องบินตามจุดต่างๆ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ โดยที่ระบุจุดหมายปลายทางได้ มี 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ แต่ไม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้เดินทางที่ชัดเจน


ผู้นำกัมพูชา-ผอ.WHO เจอชาวเน็ตกระหน่ำเรื่องคัดกรอง

หลังจากทางการมาเลเซียยืนยันพบผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นพร้อมติดแฮชแท็ก #Westerdam

ส่วนใหญ่เป็นการตั้งคำถามว่าการเดินทางกลับบ้านของผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมจะส่งผลต่อผู้เดินทางคนอื่นๆ ทั่วโลกในช่วงนี้หรือไม่ ทั้งยังถามถึง 'ความรับผิดชอบจากรัฐบาลกัมพูชา' ซึ่งยืนกรานว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและคัดกรองผู้อยู่บนเรือเวสเตอร์ดัมได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) แต่ก็ไม่สั่งกักตัวผู้อยู่บนเรือจนพ้นระยะฟักตัว และ'เทดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส' ผู้อำนวยการ WHO ก็ออกมาการันตีความปลอดภัยให้กัมพูชา

นอกจากนี้ สื่อได้เผยแพร่ภาพที่ 'ฮุน เซน' นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ 'ดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี' เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา จับมือทักทายผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมที่ท่าเรือสีหนุวิลล์โดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือถุงมือป้องกันใดๆ ทำให้ชาวเน็ตโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการ 'ชะล่าใจ' เกินเหตุ และมีการตั้งข้อสงสัยว่าผู้ร่วมต้อนรับเรือเวสเตอร์ดัมในวันนั้นจะติดเชื้อด้วยหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม บัญชีทวิตเตอร์ของสถานทูตสหรัฐฯ ในกัมพูชา แถลงว่า ความปลอดภัยของพลเมืองอเมริกันคือสิ่งสำคัญอันดับ 1 ซึ่งสถานทูตฯ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ จะดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

AFP-westerdam-แพทริก เมอร์ฟี ทูตสหรัฐฯ ในกัมพูชา ต้อนรับผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมเทียบท่าสีหนุวิลล์
  • ดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวขณะร่วมพิธีต้อนรับเรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่าสีหนุวิลล์

ส่วน The New York Times สื่อสหรัฐฯ ประเมินว่า ผู้โดยสารนับพันคนบนเรือเวสเตอร์ดัมที่เดินทางไปตามที่ต่างๆ หลังออกจากสีหนุวิลล์ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคได้ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากเรือเวสเตอร์ดัมที่กลับไปยังภูมิลำเนาในสหรัฐฯ จะถูกนำไปกักตัวเพื่อรอดูอาการจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ติดเชื้อจึงจะถูกปล่อยตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: