ไม่พบผลการค้นหา
“ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาว ๆ เรียกว่า งวง มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่า งา มีหูมีตาหางยาว” บทเพลงติดปากที่เราร้องกันตั้งแต่เด็ก เป็นเพลงที่คิดอะไรไม่ออกเวลาร้องเพลงหน้าชั้นเรียน ก็เพลง “ช้าง” นี่แหละ ร้องได้ร้องดี

ช้างเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ขนาดที่ว่าชาวต่างชาติบางคนถามคนไทยในต่างแดน ว่า “พวกคุณขี่ช้างหรือ” ทั้งที่ในชีวิตจริง เราก็ขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถสองแถว หรือ จะขับรถยนต์ส่วนตัว นอกจากนั้นแล้ว ช้างก็เป็นสัตว์ใหญ่คู่วิถีชีวิตคนไทยในเรื่องจริง และ เรื่องเล่าขานสืบสานกันมา

แล้วจากนี้เราจะเล่าเรื่องช้างอย่างไร เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ“ช้างฆ่าคน คนฆ่าช้าง” 

จากการที่ฉันลงพื้นที่หลายแห่งในฐานะผู้แทนราษฎร นอกจากทำความเข้าใจเรื่อง “ความเท่าเทียม” แล้ว ฉันยังไม่มีโอกาสรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำปัญหา ดังกล่าวมาปรึกษาหารือกับผู้แทนราษฎรในพรรคที่มีความเชี่ยวชาญกับสิ่งแวดล้อม และหาวิธี การแก้ปัญหาเพื่อนำสู่รัฐสภาต่อไป 

ปัญหา “ช้างฆ่าคน คนฆ่าช้าง” นั้นเริ่มเห็นมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจาก การที่ช้างป่าเข้ามาสู่ชุมชน ที่มีชาวสวนชาวไร่ทำอาชีพเพาะปลูก มาหาอาหารในชุมชนของชาวบ้าน และทำสวนเสียหาย รวมถึงบ้านเรือนที่บางครั้ง ช้างก็เข้ามาชน เพื่อหาอาหาร หรือ ทานข้าวหอมมะลิที่ชาวบ้านกำลังหุง และบางครั้งช้างก็ทำร้าย หรือ ฆ่าคนที่นอนเฝ้าสวน และ ชาวบ้านเองก็ฆ่าช้างจากการที่ช้างเข้ามาหาอาหารในชุมชน

และหากมองย้อนไป 15 ปี ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ “ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงใหญ่” ที่ฉันได้ลงพื้นที่ ได้รับฟังปัญหาจาก วัธชิรพงฒ์ จันทร์สูรย์ เจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ เล่าเหตุการณ์หลังหมดสัมปทานป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่ ในปี2532 

ในช่วงปี 2532 – 2542 มีการเข้ามาตั้งรกราก ในป่าสัมปทานเพื่อสร้างชุมชน ถึงแม้จะมีการบังคับคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ทำให้ระบบนิเวศน์บางอย่างเปลี่ยนไป ทำให้ช้างในช่วงนั้นกินอาหารทั้งของชาวบ้าน และ อาหารป่าตามธรรมชาติ ทำให้มีอุปนิสัยการทานอาหารเปลี่ยนไป และในตลอดระยะเวลาดังกล่าวที่ผ่านมา ช้างเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงอุปนิสัยในการทานอาหารเปลี่ยนไปจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ปัญหาดังกล่าวค่อยๆ สะสม และในฐานะที่เป็นสัตว์ใหญ่ ทำให้ช้างคือสัตว์ที่ไม่เป็นผู้ถูกล่า ในระบบนิเวศน์ 

S__161914882.jpg


ในปัญหานี้ ฉันไม่อยากให้สังคมมองว่าใครเป็นผู้ร้าย เพราะช้างก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่ตนกำลังเดินเข้ามาหาอาหารนั้น ทำไมจึงมีคนมาคอยห้าม คอยไล่ หรือทำร้าย ช้างไม่ได้รู้ว่า โฉนดที่ดินหน้าตาเป็นอย่างไร เพียงแค่ต้องการหาอาหารเท่านั้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์ ทำร้ายช้าง ฆ่าช้าง ช้างบางตัวก็มีความจำแม่น พอเห็นคนก็จะเข้ามาทำร้าย หรือ ฆ่า เพราะไม่เข้าใจและต้องการป้องกันตัวเอง และในทางกลับกัน ชุมชนที่ทำมาหากิน จากการทำไร่ ทำสวน ก็ต้องปกป้องที่ดินและพืชผล ที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจครัวเรือนของตนเอง เพราะเป็นของ ทำมาค้าขาย จะทำอย่างไร ปกป้องอย่างไรไม่ให้เสียหาย 

เราจะคืน “ช้างสู่ป่า” ได้อย่างไร ชาวบ้านบอกว่า ควรหยิบยกขึ้นมาเป็น “วาระแห่งชาติ” 

เราจะใช้ชีวิตร่วมกับเจ้าสัตว์ตัวใหญ่ ที่มีงวงยาวๆ นี้อย่างไร

ทุกวันนี้การแก้ปัญหาช้างเข้ามาสู่ชุมชน คือ การเสียงบประมาณในการขุดคู และ ล้อมรัว หรือแม้แต่การเปิดเสียงผึ้ง หรือ เลี้ยงผึ้งจริง ๆ ซึ่งไม่ได้ผลเลย เพราะในช้างตัวใหญ่ และ ฉลาด สามารถหักต้นไม้ลากมาเป็นสะพานข้ามคู เดินชนรั้วพัง หรือแม้แต่ผึ้งก็ทำได้เพียง ทำให้ช้างแค่รู้สึกรำคาญเพียงเท่านั้น 

ฉันได้นั่งพูดคุยกับผู้แทนราษฎรในพรรค นิติพล ผิวเหมาะ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับสัตว์และสิ่งแวดล้อม ว่าเราจะ “คืนช้างสู่ป่า” อย่างไร ให้ทุกคนได้ประโยชน์สูงสุด

คุณนิติพล เล่าถึงประสบการณ์ของเขาในประเทศศรีลังกาในโครงการคืนช้างสู่ป่า ว่าเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร และคุณนิติพลก็กำลังทำโครงการดังกล่าวที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งน่าสนใจและเป็นวิธีคิดแบบพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม

อย่างแรกคือการอุดหนุนสินค้าของชาวไร่ชาวสวนด้วยงบที่่ขุดคูล้อมรั้ว และนำพืช ผลไม้ ไปเป็นอาหารช้างและนำไปวางในพื้นที่ที่ช้างเดินผ่านในการหาอาหารเราเรียกว่า “จุดปลอดภัย” ต้องไม่ไกลจากจุดที่ช้างเดินเข้ามา ต้องเป็นทางผ่านจากที่พักของช้าง กับการเดินทางหาอาหาร การอุดหนุนสินค้าไร่สวน ชุมชนได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ ช้างได้อิ่มท้อง ไม่มีการรบกวนหรือทำร้ายกัน 

S__161914884.jpg


สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเตรียมพื้นที่ป่ากลับคืนมา คือคืนความอุดมสมบูรณ์ มีการขุดและเตรียมแหล่งน้ำให้ช้าง ปลูกต้นไม้ ปลูกอาหารที่ช้างทาน ซึ่งกระบวนการนี้ ใช้เวลาแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยรวมประมาณ​ 4- 5 ปี 

และจะพัฒนาทุกอย่างให้ยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม คือการพัฒนา การท่องเที่ยวให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สื่อสารออกไปทั้งภายในและนอกประเทศ ถึงแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโฮมสเตย์ และ มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อความบันเทิง ให้อาหารช้างในพื้นที่ปลอดภัย มีการซื้ออาหารช้างจากชาวไร่ชาวสวน มีการขายอาหารท้องถิ่น ให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงความบันเทิง ดนตรี การร้องรำทำเพลง ในเชิง ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทำสินค้าท้องถิ่น เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน ให้กับคนที่มาท่องเที่ยว สร้างกิจกรรม สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย 

ฉันคิดว่าการแก้ปัญหาช้างนั้นไม่ง่าย เพราะคุณนิติพลเล่าว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย ทั้งคนที่อยู่ในชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และ เจ้าสัตว์ที่มีงวงยาว ๆ นี้ แต่ฉันเชื่อว่าหากมีการร่วมมือกัน ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่คาราคาซัง ให้ช้างกับคนต้องทำร้ายกัน อยู่ด้วยกันได้ในระบบนิเวศน์ที่มีธรรมชาติ และ เงินตราเข้ากระเป๋า 

แล้วผู้อ่านละคะ คิดว่า “ช้างป่า” ควรเป็น “วาระแห่งชาติ” แล้วหรือยัง

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ครูธัญ - ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น นักกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ และสส ปาร์ตี้ลิส ลำดับที่ 25 พรรคอนาคตใหม่
1Article
0Video
14Blog