ไม่พบผลการค้นหา
กมธ. ศึกษาแนวทางแก้ไข รธน. ถกหมวดสิทธิเสรีภาพ ยกประเด็นการตรวจสอบอำนาจศาลเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เอาเปรียบประชาชนโดยใช้คำว่า 'ละเมิดอำนาจศาล'

ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน

นายโภคิน พลกุล กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิเสรีภาพไว้มากมาย แต่บทเฉพาะกาลคือ มาตรา 279 ให้คำสั่งของ คสช. ถือว่าชอบโดยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความในลักษณะที่ว่าให้คำสั่ง คสช. อยู่เหนือบทบัญญัติถาวร และอยู่ตลอดไป ดังนั้นอะไรที่ขัดแย้งกับบทถาวรควรจะให้สิ้นผลไป

ขณะเดียวกันการละเมิดอำนาจศาล ควรคุ้มครองให้ศาลทำงานได้ต่อไป แต่ไม่ใช่การลงโทษคนที่วิจารณ์ศาลโดยสุจริต แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญเอง ไม่ใช่การใช้กฎหมายทั่วๆ ไปอย่างที่เราเจอ แต่เป็นการใช้กฎหมายสำหรับการปกครอง ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ป้องกันไม่ให้คนวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่บางครั้งเป็นการวิเคราะห์เชิงวิชาการ ขณะเดียวกัน ฝ่ายนิติบัญญัติและศาลบริหารถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ศาลและองค์กรอิสระไม่ถูกตรวจสอบ ดังนั้นตนจึงตั้งคำถามว่าหากศาลทำงานไม่เที่ยงธรรมจะตรวจสอบอย่างไร เพื่อไม่ให้มีใครได้รับการยกเว้นโดยไม่ถูกต้อง 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเขียนไว้ดีในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกดำเนินคดีความ ขณะที่สิทธิเสรีภาพที่หายไปที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองได้ผ่านวุฒิสภา แต่ก็มีคำถามอีกว่าในช่วงที่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งสมควรที่จะมีสิทธิถอดถอนคนของฝ่ายการเมืองหรือไม่ แต่หากมีการตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ก็ควรให้อำนาจนี้กลับคืนมา หรืออีกทางคือพิจารณาว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองหรือไม่ และถ้ามี ควรไปรวมอยู่กับอำนาจ ส.ว. เหมือนเดิมหรือไม่

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนเขียนหลอกไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการยกเว้นไว้ว่า ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และยังมีคำนี้กระจายอยู่ในรัฐธรรมนูญรวม 19 ที่ แต่ไม่มีคำว่ากระจายอำนาจ ตนจึงเสนอว่าให้กลับไปใช้แบบเก่าคือไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี 

นายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า มาตราที่กำหนดว่า ไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อป้องกันการทำรัฐประหาร เดิมไม่เปิดให้ประชาชนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้องค์กรของรัฐทำหน้าที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแทน ต่อมามีการใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายครั้ง เช่น อ้างว่าการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง ดังนั้นตนจึงเสนอว่า เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นคดีรกศาล ในมาตรา 49 จึงควรเขียนไว้ให้ชัดเจน ควรเขียนเป็นข้อยกเว้นไปเลยว่า ไม่ให้หมายความรวมไปถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติได้โดยสะดวก

นายวัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ถ้าประชาชนเป็นคู่ความกับรัฐ ให้อำนาจคืนสู่ประชาชน ต้องขึ้นศาลประชาชนที่มีลูกขุนเป็นประชาชน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และสองมาตรฐาน ตนจึงขอเสนอให้ใส่ไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ทุกวันนี้การใช้อำนาจของศาลไม่มีการตรวจสอบ ประชาชนนั่งแสดงความคิดเห็นอยู่ที่บ้านก็ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล ทุกวันนี้ศาลและองค์กรอิสระถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้นทุกคนที่ใช้อำนาจจึงต้องถูกต้องสอบได้โดยประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครใช้อำนาจในทางที่ผิด

อ่านเพิ่มเติม