ไม่พบผลการค้นหา
เปิดกลเม็ดการทุจริตยักยอกภายในร้านอาหาร ร้านกาแฟของลูกจ้าง จากปากนายจ้าง

'แป้ง' พลับพลา เคารพธรรม อดีตแอร์โฮสเตสสาว เจ้าของร้านอาหารและร้านกาแฟ ใกล้ตัวเมือง จังหวัดชัยนาท กำลังค่อยๆ ตรวจสอบบัญชี สำรวจความสอดคล้องของยอดขายและตัวเงินอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลประโยชน์รั่วไหลน้อยที่สุด

8 ปีแล้วในบทบาท 'นายจ้าง' ที่เธอต้องเผชิญกับเรื่องราวชวนปวดหัวที่หนีแทบไม่พ้น ว่าด้วย 'การทุจริต' ของบรรดาลูกน้อง

“ต่อไปนี้เป็นการยักยอกในรูปแบบต่างๆ นะคะ อาจจะไม่ได้ดูรุนแรง ซอฟต์ๆ ใสๆ แต่เราว่าดีแล้วแหละอย่าโดนเยอะเลย” นายจ้างสาววัย 33 ปีน้ำเสียงสดใส กล่าวเริ่มต้นก่อนพาไปเจอประสบการณ์ที่เธอไม่มีวันลืม


เบิกแก้วเกินจริง 

ร้านขายเครื่องดื่มน้ำผลไม้และกาแฟของเธอ แบ่งออกเป็น 2 จุดใกล้กัน แต่ละจุดมีพนักงานดูแล 1 คน 

ปัญหาคือ เวลาที่พนักงานร้านน้ำมาเบิกแก้วพลาสติกและฝาโดมจากร้านกาแฟ เขาจะแอบหยิบไปเกินจำนวนที่ได้แจ้งหรือลงบันทึกไว้ จนยอดขายที่แสดงไม่สัมพันธ์กับ ‘ของใช้ที่จ่ายออกไป’

“แก้วเบิกไปเยอะมาก แต่เงินได้น้อย เราเลยเริ่มสังเกต ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลหรือมีคนเข้าเยอะ เขาจะเดินไปหยิบของในสต๊อกเอง แล้วบอกกับพนักงานอีกคนว่า มาเอาไปเท่านี้นะ จนเราแอบไปทำสัญลักษณ์กับจำนวนแก้วที่เหลือ สมมติแก้วมีอยู่ 6 แถว เขาจะบอกกับเพื่อนพนักงานอีกคนว่าเอาไป 4 แถวนะ แต่จริงๆ คือหยิบไป 5 แถว นั่นเท่ากับเขาจะได้แก้วเกินไป 1 แถว” 

1 แถว มีปริมาณแก้ว 50 ใบ เมื่อคิดในราคาขายน้ำหวานแก้วละ 20 บาท แปลว่า พนักงานจอมวายร้าย จะได้เงินถึง 50*20 = 1,000 บาท

“เขาอยู่กับเรามาเกือบปี ไม่อยากจะคิดว่ากี่บาทที่ได้ไป ตอนหลังมารู้อีกว่าเขายักยอกน้ำแข็งเราด้วย เช่น ทำบัญชีว่าลงน้ำแข็ง 2 ถุง แต่จริงๆ วันนั้นขายได้แค่ 20 แก้ว มันเป็นไปไม่ได้ แย่มาก” 

แก้วน้ำ ภาพจาก unsplash

Reuse นำแก้วลูกค้ามาใช้ใหม่

วิธีต่อมายังคงอยู่กับ ‘แก้ว’ แต่ไม่ใช่การขโมย มันเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ 

“ขั้นตอนของนางคือ ค่อยๆ หยิบแก้วมาล้างยังที่ถังน้ำสะอาด ซึ่งวางไว้ที่พื้น แล้วค่อยๆ เลื้อยแก้วมาเสียบไว้ที่ในกลุ่มที่นางยักยอกไว้ เพราะฉะนั้นจะทำให้แก้วมี 2 แถว แถวหนึ่งเป็นของร้าน อีกแถวเป็นของที่ยักยอก” 

แก้วใส่น้ำแข็งขายราคา 5 บาท ก็นำไปใส่น้ำผลไม้วนกลับมาขายต่อในราคา 20 บาท เท่ากับเขาทำบัญชีให้ร้านแค่แก้วละ 5 บาท แต่ตัวเองได้ 15 บาท 

“ร้านอื่นอาจจะโดนคล้ายๆ เรา ถ้าเจ้าของไม่ได้ทำเอง โดยเฉพาะเครื่องดื่มเป็นอะไรที่ยักยอกได้ง่ายสุด ง่ายกว่าอาหาร เพราะรับออเดอร์มาแต่ไม่ลงบิลก็ได้แล้ว เช็กจำนวนแก้วยาก เพราะบางทีแก้วมันมีเสีย มีแตก เจ้าของบางทีก็ขี้เกียจนับ” เธอกล่าวถึงจุดอ่อนของร้านค้าขนาดเล็ก 

แก้วน้ำ ภาพจาก unsplash

ใช้ทรัพยากรร้านเพื่อประโยชน์ส่วนตัว 

เป็นเหตุการณ์ที่พนักงานเอาวัตถุดิบหลักส่วนตัว มาต้มผัดแกงทอด ภายในครัวของร้านเพื่อขายในช่วงเทศกาล เก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง 

“แก๊ส น้ำมัน ซอส น้ำปลา น้ำตาล มันของๆ เรานะคะ หรือ บางคนทำมาจากบ้าน แต่มาเอาถุงของเราไปใช้ค่ะ เราก็เรียกมาคุยว่าทำแบบนี้ไม่โอเคนะ ใจเขาใจเรา เราจ่ายค่าเช่า ค่าของแล้วมาเอาฟรีๆ แบบนี้ก็ได้หรอ  

เราเข้าใจนะ บางทีเห็นว่ามีช่องทางก็อยากทำ แต่เราไม่ชอบค่ะ เพราะไม่ลงทุน แอบขายได้เงินเต็มๆ เอาเปรียบเกินไปค่ะและที่สำคัญพนักงานคนอื่นก็จะทำตามด้วย หรือบางทีมีงานวัด งานประเพณี งานประจำปี ก็มาขอไปออกร้านขายข้าว ขอกลับบ้านเร็ว” 


ขโมยวัตถุดิบกลับบ้าน 

“ในครัวของจะแพ็กของสดเอาไว้ บางครั้งเวลาแม่ครัวหยิบใช้กันก็จะไม่ได้เช็ก แต่มีช่วงนึง กุ้งหมดไวมาก ไวชนิดที่ว่าเรามาดูบิลแล้วพบว่าไม่ค่อยมีเมนูกุ้งจากลูกค้า ตอนหลังเด็กในร้านก็ยอมรับว่าเอาไปจริง เห้อ 

น้ำเปล่าก็เอาใส่ขวดกลับบ้านกันค่ะ บางทีก็ข้าวสวยบ้าง เราจะพูดเสมอว่า ข้าวเราไม่หวงแต่ต้องกินที่ร้านห้ามเอากลับ ไข่กินได้ แต่พวกอาหารทะเล แฮม เบคอน หรือเนื้อวัวเราไม่อนุญาต ซึ่งก็คงมีที่เราจับไม่ได้อยู่หลายครั้ง

การจ่ายตลาด เมื่อก่อนเราให้พนักงานเป็นคนจ่ายตลาด ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาจะจ่ายเกินไปบ้างหรือป่าว แต่มีครั้งหนึ่งเราเห็นบิล ก็ต้องร้องเอ๊ะ...อันนี้ไม่เกี่ยวกับร้านนี่ ก็คือ ซื้อของส่วนตัวตัวเองแล้วจ่ายไปพร้อมกับของร้านเรา ไม่โอเคอย่างแรง

การยืมเงิน มีทุกยุคทุกสมัย ต้องมีเรื่องเดือดร้อนมาขอให้เราช่วย ลูกเปิดเทอม ซื้อชุดนักเรียน ส่งเจ้าหนี้ กองทุนหมู่บ้าน ส่งให้พ่อ เราก็ให้เพราะคิดว่าแลกกับใจ และจะได้อยู่กับเราไปนานๆ แต่เราคิดดอกเบี้ยนะ ในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ที่ต้องคิดเพราะเขาจะได้มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เหมือนกับว่าได้เงินเราไปเฉยๆ” 

แป้ง - พลับพลา เคารพธรรม
  • แป้ง - พลับพลา เคารพธรรม
หวานปนขม ทำธุรกิจไม่ง่าย 

อดีตแอร์โฮสเตสสายการบินดังเข้าใจถึงความหลากหลาย การทำงานต้องอาศัยซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง เพราะทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ต่างจิตต่างใจ และหวังว่า บทเรียนการยักยอกที่เปิดเผยจะเป็นประโยชน์ต่อคนคิดอยากเริ่มต้นทำธุรกิจและสังคมไม่มากก็น้อย 

“เราอยากบอกเจ้าของร้านทุกคนนะคะว่าอย่าละเลยเรื่องของการเช็กสต็อก หรือตรวจสอบคุณภาพอาหาร ไม่ต้องทำทุกวันก็ได้ แต่ต้องอย่างสม่ำเสมอและเอาจริงกับคนที่ทำผิด

เราเชื่อว่าเวลาจะช่วยคัดกรองคนที่เข้ามาในชีวิตเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คนพวกนี้บางทีอาจจะเข้ามาเพื่อสอนประสบการณ์เราบางอย่าง ให้ละเอียด ให้อยู่เป็น รู้จักว่าชีวิตมันไม่ได้ง่ายเสมอไป อย่าโลกสวยมาก ไม่ใช่ทุกคนจะดีจะรักเรา 

แม่เราเคยบอกว่า ทำงานมีลูกน้องเหมือนตาบอดข้างเดียว ต้องยืดหยุ่นบ้าง ให้ใจเขาก่อน เขาจะอยู่กับเราด้วยใจ แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยจนไม่เกรงใจเรา ไม่คิดว่าเราเป็นเจ้านาย การทำอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับคน เราว่ามันก็เป็นเรื่องของโชควาสนาเหมือนกันเนอะ” 

แป้งว่าบอก ด้วยความที่เป็นร้านขนาดเล็ก ไม่ได้ลงทุนเรื่องระบบจัดการที่จะปิดช่องทุจริตได้เนียนสนิท ทุกวันนี้จึงพยายามอยู่ประจำร้านและเช็กบิลเองทุกวัน พบความผิดพลาดไม่สอดรับกันของรายได้และรายจ่ายบ้าง แต่อย่าให้มันเกินความสมควร ไม่อยากนำความเข้มงวด เช่น ค้นกระเป๋าทุกคนหลังเลิกงานมาใช้ เพราะไม่ต้องสภาวะอึดอัดให้กับพนักงาน 

“ทุกอาชีพและบทบาทนั้นมีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความใส่ใจ ที่ทุกคนต้องมีเหมือนกัน คิดจะเปิดร้านอย่าทำแค่เอามัน ถ้าทำอย่างนั้นมันอยู่ได้ไม่นาน” เจ้าของกิจการแห่งชัยนาททิ้งท้าย 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog