ไม่พบผลการค้นหา
เดือน ม.ค. 2020 มีเหตุการณ์ใหญ่ที่โลกจับตามอง 2 เรื่อง คือ การพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการตัดสินใจว่า อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรปอย่างไร เพราะทั้งสองเหตุการณ์จะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ของอังกฤษ ระบุว่า เดือนมกราคม 2020 เป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจของโลกตะวันตก ถ้าตัดสินใจผิดพลาดแม้แต่นิดเดียวก็อาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลกได้ สืบเนื่องจากปลายปีที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้ลงมติตั้งข้อหาถอดถอน 'โดนัลด์ ทรัมป์' ให้พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนที่เขาจะหมดวาระ โดยระบุว่าเขาใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา 

ขั้นตอนต่อมาที่จะเริ่มขึ้นในเดือน ม.ค.นี้ คือการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสมาชิก ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับผู้พิพากษา ชี้ขาดว่าทรัมป์ต้องพ้นจากตำแหน่งตามข้อกล่าวหาที่สภาผู้แทนฯ เสนอเรื่องมาหรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่น่าจะลงมติเห็นชอบข้อหาถอดถอนทรัมป์ เพราะ ส.ว.เสียงข้างมากอยู่ฝั่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การที่สภาผู้แทนฯ เห็นชอบให้ตั้งข้อหาเพื่อถอดถอนทรัมป์ก่อนหน้านี้ อาจมีผลให้เขาตกเป็นเป้าโจมตีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้แสดงความจำนงไว้ชัดเจนว่าเขาต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง แต่เขาก็ต้องแข่งกับสมาชิกพรรครีพับลิกันคนอื่นๆ ที่ขอท้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคไปสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงมองว่า การหาเสียงภายในพรรครีพับลิกันอาจจะมีคนนำประเด็นไปโจมตีทรัมป์เพื่อชิงคะแนนนิยมจากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันทั่วประเทศ

ส่วนอีกเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ก็คือกระบวนการแยกตัวของอังกฤษ หรือ 'เบร็กซิต' ที่มีกำหนดว่าจะต้องเริ่มดำเนินการภายในวันที่ 31 มกราคม หลังจากที่เลื่อนดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง เพราะอังกฤษและอียูไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่าจะบริหารจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและพรมแดนร่วมกันอย่างไร

AP-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit-อังกฤษ-อียู-ถอนตัว-สหภาพยุโรป-ธงอียู

ประเด็นที่ต้องหารือกันจนกว่าจะบรรลุข้อตกลง ได้แก่ หลักปฏิบัติเรื่องการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนโดยเสรีในกลุ่มพลเมืองประเทศสมาชิกอียู ซึ่งเมื่อก่อนคนจากประเทศสมาชิกอียูสามารถเข้าไปทำงานหรือพักอาศัยในอังกฤษได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เช่นเดียวกับที่คนอังกฤษก็สามารถเดินทางเข้าออกประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ได้ แต่ถ้าอังกฤษแยกตัวจากอียูอย่างเป็นทางการ พลเมืองของอียูที่เคยทำงานหรืออาศัยอยู่ในอังกฤษมานานจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 

ในช่วงที่ผ่านมาก็มีพลเมืองอียูหลายคนถูกปฏิเสธสิทธิที่จะอยู่ในอังกฤษต่อ ส่งผลกระทบต่อหลายครอบครัว เพราะบางราย มีบุตรที่เกิดในอังกฤษ จึงได้รับสัญชาติอังกฤษ แต่พ่อและแม่อาจจะเป็นคนจากประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้รับสิทธิอยู่ต่อในอังกฤษ และมีแนวโน้มว่าหลายครอบครัวอาจจะต้องพลัดพรากหรือต้องอพยพย้ายถิ่นที่อยู่เพราะเบร็กซิต

นอกจากนี้ การที่อังกฤษแยกตัวจากอียู จะทำให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกซึ่งเคยมีข้อตกลงหรือความร่วมมือด้านต่างๆ กับอียูและเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยในประเทศอังกฤษด้วย ก็อาจจะต้องทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และอาจจะต้องไปคุยเพิ่มเติมเรื่องกรอบความร่วมมือกับอังกฤษในแบบทวิภาคีแทน ซึ่งกรณีของไทย ผู้แทนจากอียูเคยให้การรับรองว่า ความสัมพันธ์ต่างๆ จะยังคงเดิม ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่ากระบวนการเบร็กซิตจะดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ก็มีบรรดาบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ปิดตัวลง หรือไม่ก็ถอนตัวออกจากอังกฤษไปแล้ว เพราะไม่ได้รับความมั่นใจจากอดีตรัฐบาลอังกฤษว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำให้หลายธุรกิจลดบทบาทตัวเองในอังกฤษลง เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ทั้งฮอนด้าและนิสสัน ซึ่งเคยมีฐานที่มั่นอังกฤษเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าประจำภูมิภาคยุโรป โดยฮอนด้าตัดสินใจปิดฐานการผลิตในอังกฤษลง ส่วนนิสสันก็ยกเลิกแผนการผลิตรถยนต์ไลน์ใหม่ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานคนจำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: